มองมุมใหม่สูงวัย“Active Aging” ยังโอลด์อย่างไร? ให้มีโอกาสบนโลกดิจิทัล
"โลกดิจิทัล" เป็นตัวที่ช่วยเสริมสร้างผู้สูงอายุ และใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตสามารถเพิ่มรายได้ และทำให้เกิดการดำเนินชีวิตสำหรับผู้สูงอายุได้
ผู้สูงอายุไทยจะใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมยุคดิจิทัล? โอกาสของผู้สูงอายุไทยกับการทำงานด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมีมากน้อยแค่ไหน? คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นความกังวลของกลุ่มผู้สูงอายุในโลกดิจิทัล ที่ต้องปรับตัวเองให้พร้อมกับการอยู่ในสังคมที่หลากหลายเจเนอเรชั่น และการใช้ชีวิตที่อยู่บนโลกดิจิทัล
งาน “Inspired Research Talk” แรงบันดาลใจจากงานวิจัยสู่โอกาส ในหัวข้อ “ยังโอลด์ (Young-Old)… โอกาสบนโลกดิจิทัล” จัดโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะช่วยสูงวัยค้นหาคำตอบ
ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงภาพรวมของสังคมสูงวัยกับเทคโนโลยีดิจิทัล ว่าทุกคนต่างทราบดีว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด คือ เรื่องสุขภาพ เพราะขณะนี้แพทย์ทางไกล(telemedicine) สามารถทำให้ผู้สูงอายุสมารถติดต่อกับแพทย์ ให้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือจ่ายยาส่งตรงไปที่บ้านได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
แต่เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในเรื่องนี้ ปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับดิจิทัล และสร้างรายได้นั้น ยังมีจำนวนจำกัด
"ปัจจุบันดิจิทัลสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้อย่างหลากหลาย จนถึงสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่สูงวัย ขณะเดียวกัน อนาคตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก อีกประมาณ 2 ปีข้างหน้าจะเกิดสึนามิผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่ปีละ 500,000คน ขณะที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 1,000,000 คนไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าทำให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นไปถึง 20 ล้านคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้"ดร.นพ.ภูษิต กล่าว
- มองมุมใหม่ผู้สูงอายุ เป็น Active Aging สร้างโอกาสจากดิจิทัล
ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องมีการจัดทำงานวิจัย สำหรับผู้สูงอายุให้สามารถอยู่ได้ในโลกที่ต่างกันและอยู่ร่วมกันได้ ทำให้ผู้สูงอายุใช้ดิจิทัลในการใช้สร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสร้างรายได้ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมต่อไป
รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯกล่าวถึงแรงบันดาลใจจากวิจัยสู่โอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัลว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
ดังนั้น งานวิจัยของจุฬาฯ ในเรื่องของโอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัล พบว่า จะทำให้ผู้สูงอายุไทยใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัล ได้นั้น ต้องมีการเปลี่ยนมุมมองผู้สูงอายุใหม่ ยิ่งผู้สูงอายุอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยี วิถีชีวิตใหม่ และความแตกต่างทางวัย การจะเป็นทำให้ผู้สูงอายุก้ามข้ามสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทาย
"ต้องมองผู้สูงอายุว่าเป็น Active Aging และยังโอลด์ (Young-Old) ทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งสามารถใช้เทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์ม สร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้อย่างมาก ดังนั้น การส่งเสริม หรือหาวิธีการทำให้ผู้สูงอายุสร้างความมั่นคงทางรายได้จากเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เข้าถึงสวัสดิการรัฐบนออนไลน์จะเป็นต้องให้ความรู้ สร้างแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ในโลกดิจิทัลด้วยความสนุก สร้างความภาคภูมิใจก่อนสร้างรายได้" รศ.ดร.พนม กล่าว
- 4 ข้อเสนอภาครัฐ สร้างสังคมสูงวัยแบบยังโอลด์
รศ.ดร.พนม กล่าวต่อว่า งานวิจัยได้มีการศึกษาทำให้ได้เห็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ปรับใช้ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ของตนเองได้ อีกทั้งได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็นที่ภาครัฐ ควรจะดำเนินการ ได้แก่
1.จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้สูงอายุความมั่นคงด้านรายได้ “สูงวัยสร้างรายได้ด้วยตนเอง” รวมถึงมีการอบรม ให้ความรู้ สร้างความหลงใหลในการใช้เทคโนโลยี และมีเป้าหมายที่จะสร้างคอนเทนต์ของตนเองอย่างสนุกสนาน
2.เปิดพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มต่างวัย เหมือนกับแหล่งคอมมูนิตี้ของเด็ก คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
3.เน้นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง ให้สูงวัยสามารถก้าวไปด้วยกัน รัฐควรจัดสวัสดิการพื้นฐาน รวมทั้ง ควรให้บริการ wifi ฟรี ทั้งหมด ส่งเสริมอุปกรณ์ราคาถูก เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้ดิจิทัล สร้างโอกาส สร้างรายได้แก่พวกเขา
4.สมาร์ท ลีฟวิ่ง ควรมีระบบการช่วยเหลือฉุกเฉิน เชื่อมโยงไปยังสถานพยาบาลและญาติพี่น้องได้
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมผู้สูงอายุให้เรียนรู็และสามารถใช้ดิจิทัลได้นั้น ควรทำให้เป็นเรื่องสนุกสนาน มีความสุข อยู่ในสังคมที่มีเจนเนอเรชันหลากหลาย และเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัยฐานวิถีชีวิตใหม่ที่มีโอกาสมากมายรอให้ผู้สูงอายุทุกคนได้ไขว่คว้าบนโลกดิจิทัลโดยไม่มีขีดจำกัดด้านอายุ
- ข้อจำกัดทางอายุ เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาเอง
เกรียงไกร ช่วยดำรงสกุล วิศวกรโยธาและยูทูบเบอร์ล้านวิว “คุยกับลุงช่าง” กล่าวถึง “Content Creator กับรายได้หลังเกษียณ” ว่าคนไทยจะติดกับดักว่าเมื่อเรียนจบ ทำงาน และเกษียณอายุ โดยการเกษียณอายุจะหมายถึงการไม่ทำงานต้องหยุดพักผ่อน อย่าใช้เงินมากเพราะเงินจะหมด ซึ่งความเชื่อดังกล่าว ตนไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนกำหนดและทำไมทุกคนต้องเชื่อ ต้องติดกับดักอยู่ในเรื่องนี้ ทั้งที่ร่างกาย ความคิด ความเชื่อเป็นของเราเอง
"ผมเป็นวิศวกรทำงานมา 30 ปี และปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ เพื่อสร้างรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งทรัพย์สินกับหนี้สินไม่ควรโตไปด้วยกัน เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาตนเองก็เริ่มจากการเสพเทคโนโลยี ซึ่งคนรุ่นใหม่ดูอะไรเราก็ดูตาม และการเสพสื่อโซเซียลมีเดียที่ผู้ชมเป็นคนเลือก"เกรียงไกร กล่าว
คนส่วนใหญ่ถ้าภายใน 3 วินาทีไม่หยุดดูเนื้อหานั้น ก็จะไปดูเนื้อหาอื่นไปเรื่อยๆ เมื่อ 2-3ปีก่อน "เกรียงไกร" ได้มีโอกาสดูเนื้อเกี่ยวกับการวิศวกร สร้างบ้าน และเนื้อหาที่นำเสนอไม่ถูกต้อง เมื่อไปคอมเมนต์แนะนำก็ถูกโต้ตอบกลับ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำช่องขึ้นมาเอง
เกรียงไกร กล่าวต่อว่าตอนแรกที่ทำเราก็ทำแบบสนุก แต่ใส่ความรู้ที่เรามีเป็นเนื้อหา หลังจากนั้นมีผู้ชม มีคนติดตามก็ทำต่อไปเรื่อยๆ แม้เดือนแรกจะไม่ปัง ไม่มีรายได้ แต่ก็ลองทำไปเรื่อยๆ จนวันนั้นก็มีรายได้เข้ามาจาก 4,000 บาท เป็น8,000 บาท และมีสินค้าให้มารีวิว โดยตอนนี้นอกจากรายได้จากyoutube แล้ว ยังมีจากการรีวิว ทำให้มีรายได้หลักแสนกว่าบาทต่อเดือน
"การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทำให้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุต้องปรับตัว และจูนคลื่นตัวเองให้เข้ากับเทคโนโลยี เพราะตอนนี้ไม่มีใครจะหนีคลื่นเทคโนโลยีได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุต้องเลือกว่าจะเป็นYoung-Old โต้คลื่นไปกับเทคโนโลยีหรือ จะจมไปอยู่ใต้คลื่นหรือใต้เทคโนโลยี" เกรียงไกร กล่าว
การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ การทำให้ง่ายที่สุด ทำด้วยความสนุก อย่าไปคิดถึงตัวเงิน รายได้มาก นำเสนอในสิ่งที่ตนเองมี สิ่งที่ตนเองคิด และเข้าใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนทั่วโลกมาชม แต่ต้องการผู้ชมเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น