ผลการฉีด"วัคซีนโควิด-19" ในไทย ช่วยรักษาชีวิตเกือบ 5 แสนราย
สธ.เผยไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 143 ล้านโดส ช่วยรักษาชีวิตคนไทยกว่า 4.9 แสนราย ห่วงสูงวัยเกือบ 2 ล้านยังไม่รับวัคซีน กำชับเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องฉีด-รับเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็ม 3 นานกว่า 3 เดือน ต้องมารับเข็ม 4 เพื่อลดการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน เมื่อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19ของประเทศไทยตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 สะสม 143 ล้านโดส ประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 82% รับเข็มที่ 2 จำนวน 77% และเข็มที่ 3 จำนวน 46% จึงต้องดำเนินการต่อเนื่องในเดือน ต.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาผลดีที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนตามการจำลองแบบคณิตศาสตร์ พบว่า วัคซีนป้องกันเสียชีวิตในประเทศไทยกว่า 4.9 แสนราย แบ่งเป็นปี2564 จำนวน 382,600 ราย ปี2565 อีก 107,400 ราย ซึ่งช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก
ทั้งนี้ การที่ไทยป้องกันการเสียชีวิตได้จำนวนมาก เนื่องจากนโยบายการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นกลุ่มบุคลากรการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง 608 ให้รับวัคซีนเป็นลำดับต้น รวมถึงการฉีดในพื้นที่ระบาดรุนแรงเพื่อลดการติดเชื้อ อีกทั้ง ไทยมีมาตรการป้องกันอื่นๆ คู่กับการฉีดวัคซีน เช่น สวมหน้ากากอนามัย โดยอัตราการเสียชีวิตต่อล้านคนของไทยอยู่ที่ 467 ราย เมื่อนำตัวเลขเทียบกับประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงไทย พบว่า การเสียชีวิตของไทยน้อยกว่ามาก เช่น อังกฤษ 2,765 ราย ฝรั่งเศส 2,364 ราย และ มาเลเซีย1,092 ราย ต่อล้านประชากร
นพ.โสภณ กล่าวว่า กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ศึกษาประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนเดือน พ.ค.-ก.ค.2565 พบว่า การฉีด 2 เข็มป้องกันป่วยหนัก 60% ตาย 72% แต่ถ้ารับ 4 เข็ม ป้องกันป่วยหนัก ใส่ท่อหายใจ และตายได้ 100% ซึ่งข้อมูลผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย. 2565 รวม 72 ราย ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 608 ทั้ง 100% โดยไม่ได้รับวัคซีน 37 ราย คิดเป็น 51.39% จากการคำนวณประโยชน์การฉีดวัคซีนในเดือน ม.ค. - ก.พ. 2565 พบว่า ลดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุถึง 41 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี อีก 1,954,496 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงขอรณรงค์ให้มารับวัคซีน โดยเฉพาะ 1 ต.ค.2565 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องรับวัคซีน และรับเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง หากฉีดเข็ม 3 นานกว่า 3 เดือน ต้องมารับเข็ม 4 เพื่อลดการเสียชีวิต
“ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 โควิด-19เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อยู่ระหว่างวางแผนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนสะดวก ซึ่งระบบของ สธ.จะให้บริการฉีดได้ตั้งแต่ รพ.สต. รวมถึงการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ให้เพียงพอ”นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับวันที่ 1 ต.ค. 2565 จะมีการปรับมาตรการใหม่ โดยผู้ที่มีอาการป่วยระบทางเดินหายใจ ยังต้องเข้มงวดมาตรการป้องกัน DMH คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก และล้างมือ ส่วน ประชาชนทั่วไป ให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่แออัด เช่น ขนส่งสาธารณะ รพ. สถานที่ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ขณะที่ สถานประกอบการ ให้คัดกรองพนักงานเฉพาะผู้มีอาการป่วย ถ้าพบป่วยเป็นกลุ่มก้อนให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และไม่แนะนำตรวจATK ในคนไม่ป่วย เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ด้านนพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า การรับวัคซีนโควิดเข็ม 3 ภาพรวมประเทศยังครอบคลุมไม่สูง ยังอยู่ที่ 40% ฉะนั้นยังมีช่องว่างที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัยมากขึ้น หากแบ่งเป็นเขตสุขภาพ 1-12 พบว่า เขตสุขภาพที่ 8, 11 และ 12 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นในทุกกลุ่มประชากรยังไม่ถึง 40% อย่างไรก็ตาม ความพร้อมสถานพยาบาลในการให้บริการวัคซีน เราเตรียมวัคซีนทุกแพบตฟอร์มไว้ตั้งแต่ รพ.สต. อย่างเพียงพอและกระจายทุกจุดบริการในทุกจังหวัด โดยจะมีการลงพื้นที่ฉีดผ่านกลไก อสม. มีหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง เปิดนัดหมายล่วงหน้าในรพ.ต่างๆ และสามารถปูพรมฉีดในพื้นที่ระบาดได้
นอกจากนี้ ยังมีบริการฉีดภูมิคุ้มกันระยะยาว(LAAB) จะมีกลุ่มเฉพาะ โดยเฉพาะผู้บกพร่องในการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างภูมิฯ ต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน ขณะที่ เด็ก 6 เดือน - 4 ปี สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง ตามความสะดวกใจ ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม กรณีติดเชื้อแล้วให้เว้น 3 เดือนนับจากวันพบเชื้อ แล้วไปรับวัคซีน จำนวน 3 เข็ม โดยไม่ต้องตรวจเชื้อก่อนวัคซีน
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ให้บริการวัคซีนตามแนวทางที่ สธ. กำหนด และขอขอบคุณที่ สธ. สนับสนุนวัคซีน และหน่วยบริการฉีด เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ทำให้ กทม. ฉีดสะสมถึง 27.8 ล้านโดส ฉีดเข็ม 2 ที่ 110.82% และเข็ม 3 ที่ 70% ทั้งนี้ กทม.กำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่ 70% ซึ่งปัจจุบันฉีดแล้ว 69.85% ขณะเดียวกัน การฉีดในกลุ่ม 608 ก็สูงถึง 68.83%
หลังจากวันที่ 1 ต.ค. ทาง กทม. ก็ยังให้บริการวัคซีนตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง แต่จะในกลุ่มเน้น 608 ให้เกิน 70% จึงเปิดบริการนัดหมายและวอล์กอิน(Walk in) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง, รพ.ในสังกัดกทม.ทุกแห่ง ก็ยังให้บริการตามปกติ ศูนย์ฉีดวัคซีนกีฬาเวสน์2 ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เปิดทุกวัน 8.00-16.00 น. หากประชาชนที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน สามารถติดต่อตามสิทธิสุขภาพของตนเองตามปกติ ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนที่ขึ้นในแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม หากข้อมูลไม่ถูกต้อง สามารถติดต่อที่สายด่วน 1555 เพื่อแก้ไขข้อมูลได้