ทำไม วัคซีนป้องกัน "โรคพิษสุนัขบ้า" จึงจำเป็นเมื่อโดนสัตว์กัด
กรมควบคุมโรค แนะการฉีดวัคซีนป้องกัน "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นหนทางเดียวในการป้องกันการเสียชีวิต เน้นเฝ้าระวังสัตว์สงสัย แนะป้องกันตนเองจากสัตว์กัด ข่วน เลีย ถึงแม้ว่ามีแผลเล็กน้อยก็ควรเข้าพบแพทย์หรือแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อวินิจฉัยความรุนแรงโรค
วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีการพบสัตว์พบ โรคพิษสุนัขบ้า ได้ทั่วประเทศ และอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโดนสุนัข-แมว กัดหรือข่วน จึงขอเตือนประชาชนว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรงหากได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า เมื่อติดเชื้อและแสดงอาการแล้วรักษาไม่หาย และเสียชีวิตทุกราย
สาเหตุจากการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
ซึ่ง สาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้พบแพทย์ หรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้น หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้แผลเล็กน้อย ควรรีบปฐมพยาบาล
วิธีปฐมพยาบาล
- ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง
- เช็ดแผลให้แห้ง
- ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
- จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบโดส
- ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
คาถา 5 ย. ป้องกันถูกสัตว์กัด
ในปัจจุบันการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของร่างกาย ซึ่งอาจป้องกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการ คาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัด สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ
3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะฉีดเพียง 4 – 5 ครั้งเท่านั้น
“ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวอย่างถูกวิธี คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักสุนัข 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการการให้วัคซีน และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง” นายแพทย์ธเรศ กล่าว
อาการหลังได้รับเชื้อ
นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ อาการของโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากรับเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการ ดังนี้
- เบื่ออาหาร
- เจ็บคอ
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ชา
- เจ็บเสียว
- หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด
- คันอย่างรุนแรงที่แผล
ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง
- ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม
- และฉีดวัคซีนเป็นประจำปีละ 1 เข็ม
- หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรค ยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย และต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422