โรคฮิสโตพลาสโมซิส อันตรายแค่ไหน หลังนทท.เข้าในโพรงต้นไม้ใหญ่ติดเชื้อ 2 ราย
โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) อันตรายแค่ไหน? หลัง "หมอมนูญ" เผยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่แล้วติดเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม แล้ว 2 ราย โดยเชื้อเข้าปอดและบางคนอาจกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ
วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ภายหลังจากที่ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์เตือนนักท่องเที่ยวห้ามเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ เพราะจะหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ที่ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดินเข้าไปในปอด ซึ่งจะทำให้ป่วยเป็น โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
โดย หมอมนูญ ให้ข้อมูลว่า โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) จากมูลค้างคาว หรือนก เข้าปอด และบางคนอาจกระจายไปอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก ต่อมหมวกไต สมอง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย
ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ไปเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินเข้าโพรงต้นไม้ใหญ่ อยู่ห่างคลองวังหีบประมาณ 200 เมตร เพื่อไปดูค้างคาว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที หลังจากนั้น 15 วันเริ่มไอแห้ง ๆ บางครั้งไอมีเสมหะสีขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินขึ้นบันไดเหนื่อย เบื่อหาร น้ำหนักลด 2 กิโลกรัม ไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดกระดูก
ผู้ป่วยไปหาแพทย์วันที่ 5 กันยายน 2565 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีก้อนเล็ก ๆ กระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด และช่องท้อง พบก้อนเล็ก ๆ ในปอดกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง ก้อนในปอดด้านล่างขนาดใหญ่ถึง 1 เซนติเมตร (ดูรูป) พบก้อนในต่อมหมวกไตข้างซ้ายขนาด 0.5 x 1.1 เซนติเมตร และม้ามโตเล็กน้อย ได้ทำผ่าตัด ตัดชิ้นเนื้อจากปอดด้านซ้ายส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่ามีเนื้อเยื่อตายและการอักเสบแบบแกรนูโลมา (necrotizing granulomatous inflammation) ไม่พบวัณโรค ย้อมสีพบเชื้อราลักษณะเป็นยีสต์ (ดูรูป) เพาะเชื้อราขึ้น
ฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) มีลักษณะเป็นราสาย (ดูรูป) ฮิสโตพลาสมาอยู่ในกลุ่มรา 2 รูป (Dimorphic) อยู่ในเนื้อเยื่อมีรูปเป็นยีสต์ อยู่ในธรรมชาติมีรูปเป็นเส้นใยราสาย
หมอมนูญได้สรุปว่า ผู้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) จากการหายใจเอาสปอร์ฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) เข้าไป หลังจากเข้าไปในโพรงต้นไม้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ทำให้เกิดปอดอักเสบ กระจายไปที่ต่อมหมวกไตและม้าม
วันที่ 19 กันยายน 2565 เนื่องจากอาการไม่หนักมาก จึงเริ่มยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังกินยา 2 สัปดาห์ อาการและเอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้า ๆ และจะให้ยารักษาต่อประมาณ 12 เดือน
"คนที่จะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด" หมอมนูญ ระบุ
ทั้งนี้ หมอมนูญ ยังเผยอีกว่า ทางชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ซึ่งผมเป็นประธาน จะทำการวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อรา Histoplasma ที่แยกจากผู้ป่วย และจากดินในโพรงต้นไม้นี้ (gene sequencing) เพื่อทราบสปีชีส์ (species) หรือชนิด ว่าแตกต่างจากเชื้อรา Histoplasma ที่พบในประเทศและทวีปอื่นหรือไม่ ผลการศึกษาจะรายงานในวารสารเชื้อรานานาชาติต่อไป
ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC