"หมอมนูญ" ตอบชัด! ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้ว แต่ทำไมยังติดเชื้อโควิดซ้ำ-ป่วยหนักได้
"หมอมนูญ" ไขคำตอบ เหตุใดผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถึงติดเชื้อโควิดซ้ำแล้วซ้ำอีกและป่วยหนักได้ แม้จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และฉีดเข็มกระตุ้นมาแล้ว
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุถึงกรณี ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง กับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส โควิด-19 หลังได้รับวัคซีนครบโดส หรือได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว
โดย "หมอมนูญ" ระบุว่า ผู้ป่วยบางคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดครบโดส หรือได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และเคยติดเชื้อไวรัสโควิดทางธรรมชาติ คนกลุ่มนี้สามารถติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำแล้วซ้ำอีก และป่วยหนักได้
ยกตัวอย่างผู้ป่วย อายุ 67 ปี หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ติดเชื้อไวรัสโควิด 2 ครั้ง ภายในเวลา 19 วัน หลังติดเชื้อครั้งที่ 2 ตรวจเลือดระดับแอนติบอดีในเลือดต่อโปรตีนส่วนที่เป็นหนาม SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) พบเพียง 8 AU/ml ซึ่งต่ำมาก เพราะผู้ป่วยรายนี้เคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและได้ยา rituximab ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยา rituximab มีผลทำให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดบีเซลล์ซึ่งสร้างแอนติบอดีลดจำนวนลง
หมอมนูญ ระบุต่ออีกว่า ผู้ป่วยได้ Evusheld แอนติบอดีสำเร็จรูป ออกฤทธิ์ยาว Long Acting Antibody ซึ่งประกอบด้วย แอนติบอดี 2 ชนิด ได้แก่ Tixagevimab และ Cilgavimab ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่สะโพกขวาและซ้าย ข้างละ 1.5 มล. ไม่มีผลข้างเคียงจากยา หลังฉีด 2 วันตรวจเลือดระดับแอนติบอดีในเลือดต่อโปรตีนส่วนที่เป็นหนาม SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิดขึ้นสูงถึง 10,927 AU/ml
ยา Evusheld อยู่ได้นานในเลือดถึง 6 เดือน สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีอาการได้ร้อยละ 83 ผู้ที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ Evusheld ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ผู้ที่กินยากดภูมิ กินเสตียรอยด์ขนาดสูง ๆ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (autoimmune diseases) จะพิจารณาฉีดให้กับคนกลุ่มนี้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 3 เข็ม แล้วตรวจวัดภูมิคุ้มกันระดับแอนติบอดี IgG ในเลือดต่อโปรตีนส่วนที่เป็นหนามไม่ขึ้น อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม
ขอบคุณข้อมูลจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC