เริ่ม 12 ต.ค.นี้ ฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 6เดือน-4ปี

เริ่ม 12 ต.ค.นี้ ฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 6เดือน-4ปี

สธ.เผยแนวทางให้วัคซีนโควิด-19 เด็ก 6 เดือน- 4 ปี เริ่ม12 ต.ค.นี้ ติดตามอาการหลังฉีด 30 นาที รับ 3 เข็ม ภายใน 3 เดือน ตามความสมัครใจ แจ้งแล้ว 3 แสนคน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 6 เดือน- 4 ปี แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ประกาศให้โรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจัยที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จนคนไทยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมีการกำหนดนโยบายปรับไปตามสถานการณ์ มีข้อมูลทางด้านวิชาการมาประกอบว่าต้องฉีดกี่เข็ม กลุ่มไหนอย่างไร
"การฉีดเด็ก 6 เดือนถึง 4 ปีก็มาจากคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภุมิคุ้มกันโรคเสนอขึ้นมา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมให้บริการ โดยวันที่ 12 ต.ค.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. จะเป็นประธานคิกออฟการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี"นพ.โอภาสกล่าว  

   นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า คนทั่วไปคำแนะนำคือเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น โดยขอให้ฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับเข็มที่ 4 ส่วนปีต่อไปฉีดเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ตอนนี้ข้อมูลทั่วโลกยังไม่เพียงพอ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ช่วงต่อไปการฉีดวัคซีนจะไม่ง่ายเหมือนช่วงแรกที่ความต้องการฉีดมีมาก แต่ปัจจุบันความต้องการลดลง ทั้งที่มีวัคซีนให้เลือกทุกชนิดตามความสมัครใจ โดยน่าจะมีการฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 2 ล้านโดสในเข็ม 4 ภายในเดือน ธ.ค.นี้
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยวริวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันให้วัคซีนโควิด-19 แล้ว 143 ล้านโดส ครอบคลุมตั้งแต่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป แต่เพื่อสร้างความครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายจึงจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด โดยวัคซีนจะมาถึงวันที่ 7 ต.ค. และจะผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจะรีบกระจายเพื่อจะได้เริ่มคิกออฟพร้อมกันทุกพื้นที่วันที่ 12 ต.ค.นี้ สำหรับการกระจายจะจัดส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เพื่อให้กระจายต่อในพื้นที่ ตามจำนวนที่มีการแจ้งความประสงค์ไว้ โดยไปรับบริการได้ที่จุดที่แจ้งความประสงค์ ซึ่งกระจายไปถึง รพ.สต. 

  จากการประเมินสอบถามผู้ปกครองถึงความสมัครใจในการรับวัคซีน มีรายชื่ออยู่แล้วเบื้องต้นประมาณ 3 แสนคน โดยสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนพื้นฐานชนิดอื่นได้ ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 รายงานเป็นรายสัปดาห์ โดยวันที่ 2-5 ต.ค. 2565 มีผู้ป่วยในระบบรายงาน 1,305 ราย เฉลี่ยวันละ 326 ราย เสียชีวิตวันละ 8-9 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย แม้จะรายงานสัปดาห์ แต่ติดตามทุกวัน โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการ (อีโอซี) กรมควบคุมโรคติดตามทุกวัน จากการประเมินตัวเลขยังเป็นไปตามคาดการณ์และควบคุมได้ อยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวว่า ปัจจุบันเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี เป็นกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งช่วงการระบาดของโอมิครอนพบว่าเด็กเล็กกลุ่มนี้มีการป่วยและอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า แนวทางการฉีด เด็กเล็กจะใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลง ซึ่งเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีใช้วัคซีนฝาสีแดงเข้มขนาด 3 ไมโครกรัม จำนวน 0.2 มิลลิลิตร ฉีด 3 เข้ม โดยเข็มแรกและเข็มสองห่างกัน 1 เดือน และเข็มสามห่างอีก 2 เดือน ซึ่งต่างจากเด็กโตอายุ 5-11 ปีที่มีขนาด 10 ไมโครกรัม และอายุ 12 ปีขึ้นไปฝาสีม่วงที่ใช้ขนาด 30 ไมโครกรัม หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาที และติดตามต่อจนครบหนึ่งเดือน ซึ่งสหรัฐอเมริกามีการฉีดและติดตามล้านกว่าโดส พบว่าผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงเสียชีวิต ถือว่าปลอดภัยสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งช่วงนี้มีการผ่อนคลายต่างๆ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนักได้ง่าย เมื่อเด็กไม่ป่วย พ่อแม่ผู้สูงอายุในบ้านก็ลดความเสี่ยง


เมื่อถามถึงความกังวลผลข้างเคียงกระทบหลอดเลือด นพ.โสภณกล่าวว่า จากการที่เราฉีดวัคซีนชนิด mRNA ตั้งแต่ปีที่แล้ว โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบการติดเชื้อโควิดแล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งในต่างประเทศโอกาสแทรกซ้อนเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กเล็กก็น้อยกว่าเด็กโต รวมถึงภาวะมิสซีหรืออักเสบทั่วร่างก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้มากกว่า แต่การฉีดวัคซีนจึงป้องกันทั้งโควิดและการเกิดมิสซี

ถามต่อว่าเคยมีข้อมูลคนฉีดวัคซีนก็เกิดภาวะมิสซีได้ นพ.โสภณ กล่าวว่า คนฉีดวัคซีนมีโอกาสเกิดภาวะมิสซีได้ แต่น้อยมาก 1 ใน ล้าน ซึ่งการฉีดวัคซีนเด็กโตก็เจอบ้าง แต่เกิดแล้วสามารถรักษาได้ ไม่ได้มีอาการรุนแรงเสียชีวิต ถ้าไม่ฉีดวัคซีนการอักเสบจะมากกว่า อย่างการฉีดวัคซีนควบคุมปริมาณน้อยมากที่ 3 ไมโครกรัม เมื่อไปติดเชื้อก็ทำให้เชื้อไม่เพิ่มจำนวนมาก เพราะมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไปต้านปริมาณเชื้อ แต่การติดเชื้อธรรมชาติมีเชื้อจำนวนมากเป็นล้านๆ พาร์ติเคิลที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบมากกว่าอยู่แล้ว ส่วนเรื่องฉีดแล้วพบตัวบวมก็เป็นเคสรายงานแต่พบน้อยมาก ยิ่งการฉีดในเด็กเล็กจำนวนเด็กน้อยโอกาสเกิดก็จะยิ่งน้อย น่าจะเป็นอาการแพ้ ส่วนใหญ่รักษาได้ เราถึงให้ติดตาม 30 นาที และติดตามให้ครบ 1 เดือน เชื่อว่าวัคซีนปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตมีการพัมฯาการผลิตและปริมาณน้อย 3 ไมโครกรัม น้อยกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า