เช็ค! 4 ช่องทางปชช. 9 รพ.เอกชนถูกยกเลิกสัญญา เลือกสถานพยาบาลใหม่10 ต.ค.นี้

เช็ค! 4 ช่องทางปชช. 9 รพ.เอกชนถูกยกเลิกสัญญา เลือกสถานพยาบาลใหม่10 ต.ค.นี้

สปสช.เตรียม 4 ช่องทางให้ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับ 9 โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในพื้นที่ กทม. จำนวน 2.3 แสนรายที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาระหว่าง สปสช.กับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถทยอยเลือกหน่วยบริการได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

  1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ
  2. ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
  3. สายด่วน สปสช. โทร. 1330

นอกจากนี้ หากผู้ใช้สิทธิ์ไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านช่องทางข้างต้น สามารถมาลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเองได้ที่ที่ทำการของ สปสช. ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยผู้ใช้สิทธิ์สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านได้ที่ เว็บไซต์ สปสช.

 

  • แนะไม่ต้องรีบ เลือกสถานพยาบาลใหม่ 

พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้เวลาตรวจสอบและเลือกเฟ้นหาหน่วยบริการที่ถูกใจได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรีบร้อนลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ เพราะ สปสช. ได้เตรียมหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. ไว้อย่างเพียงพอมากกว่า 700 แห่ง และผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองที่เคยลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาไปนั้นมี 7 แห่งที่เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิและประจำได้แก่

  1. รพ.ประชาพัฒน์
  2. รพ.นวมินทร์
  3. รพ.เพชรเวช
  4. รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2
  5. รพ.แพทย์ปัญญา
  6. รพ.บางมด
  7. รพ.กล้วยน้ำไท

ทั้งนี้หลังจากถูกยกเลิกสัญญา ประชาชนกลุ่มนี้จะมีสถานะเป็น “สิทธิว่าง” กล่าวคือเป็นสิทธิ VIP ที่ระหว่างนี้หากเจ็บป่วยสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของ สปสช. ที่ไหนก็ได้ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ในระบบ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล ร้านยา ฯลฯ

โดยตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลในเครือข่ายได้ที่ (คลิก)  หรือแอปพลิเคชัน NOSTRA Map โดยกดเข้าไปดูชั้นข้อมูลที่ระบุว่า สถานพยาบาลในระบบ สปสช. ซึ่งหากผู้ใช้สิทธิได้ไปรับบริการแล้วเกิดความประทับใจถึงค่อยลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำก็ได้

“หรือหากท่านสุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่เคยเจ็บป่วยแต่อยากลงทะเบียนหน่วยบริการประจำเตรียมพร้อมไว้ ขอแนะนำให้ท่านเลือกลงทะเบียนที่หน่วยบริการใกล้บ้านก่อนเพื่อความสะดวกในการไปรับบริการ แต่หากท่านไปรับบริการแล้วไม่ประทับใจหรืออยากเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ท่านสามารถเปลี่ยนได้ในภายหลัง โดย สปสช. เปิดให้ท่านย้ายหน่วยบริการประจำได้ตลอดเวลา เป็นจำนวน 4 ครั้ง/ปี” พญ.ลลิตยา กล่าว

 

  • 3 เดือน หน่วยบริการหรือรพ.รับส่งต่อชั่วคราว

อนึ่ง ในส่วนของผู้ใช้สิทธิ์ที่เดิมมี 9 โรงพยาบาลเอกชนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อนั้น ทาง สปสช. ได้หารือกับกรุงเทพมหานครและกรมการแพทย์ ได้ข้อสรุปว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ จะจัดหาหน่วยบริการหรือ รพ.รับส่งต่อให้เป็นการชั่วคราว เมื่อได้หน่วยบริการรับส่งต่อแห่งใหม่แล้วจะแจ้งให้ผู้มีสิทธิ์ทราบอีกครั้ง

หน่วยบริการรับส่งต่อชั่วคราวในขณะนี้ มีดังนี้

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสินและ รพ.ตากสินแทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.กล้วยน้ำไท เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน

- ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวจาก 9 โรงพยาบาลเอกชนนี้ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า ยังคงไปรับการรักษาได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแต่อย่างใด