เตือน! วันหยุดยาว ดื่มเหล้าหนัก เสี่ยง สุราเป็นพิษ หยุดหายใจ ตายกะทันหัน

เตือน! วันหยุดยาว ดื่มเหล้าหนัก เสี่ยง สุราเป็นพิษ หยุดหายใจ ตายกะทันหัน

สสส. เตือน! วันหยุดยาว ดื่มเหล้าหนัก เสี่ยง สุราเป็นพิษ หยุดหายใจ ตายกะทันหัน ด้าน ศวส. ชี้ แข่งขันดื่ม เข้าข่ายผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชวน ประชาชน - ผู้ประกอบการ สานพลัง สร้างสังคมลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาวะที่ดี

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันหยุดยาวประชาชนมักเดินทางไปต่างจังหวัด และอาจทำกิจกรรมสังสรรค์ เพื่อให้เกิดความรื่นเริง สนุกสนาน แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมแข่งขันดื่มเหล้า อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โดยข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ภาคีเครือข่าย สสส. พบว่า หากผู้ดื่มได้รับปริมาณแอลกอฮอล์ในระดับ 400 – 799 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ปริมาณมากและภายในเวลาอันสั้น อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถขับออกได้ทัน ผู้ดื่มจะเสี่ยงต่อภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) มีโอกาสหยุดหายใจและเสียชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ

                       เครือข่ายฯ งดเหล้า ห่วงอุบัติเหตุ ผลพวงเปิดให้ "ดื่มแอลกอฮอล์"

                      ถอดบทเรียน 5 ชุมชน ต้นแบบเลิกเหล้า แหล่งเรียนรู้ของเยาวชน

                     สคล.ร่วม สสส.เสริมพลังต้นแบบงดเหล้าศรีสะเกษ โมเดลสู่ปรับใช้ทั่วประเทศ

 

 

  • เพศหญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงกว่าเพศชาย

ระดับแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการทำงานของสมอง แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละคน ที่ตอบสนองต่อปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน ตั้งแต่การดูดซึมในกระเพาะและลำไส้ ไปจนถึงการเผาผลาญที่ตับ และกำจัดออกที่ไต ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะวันหยุดยาว หรือวันธรรมดาทั่วไป เมื่อเหล้าเข้าปาก จะกระตุ้นให้สมองมีอาการตื่นตัว เริ่มตัดสินใจและควบคุมสติไม่ได้ ท้ายที่สุดจะกดการทำงานของสมอง จนทำให้ดื่มมากกว่าที่วางแผนไว้ และยังมีปัจจัยเรื่องเพศ น้ำหนัก และโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับสุขภาพ

"สสส. พบว่าเพศหญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงกว่าเพศชาย คนน้ำหนักตัวน้อยเสี่ยงกว่าคนน้ำหนักตัวมาก และคนที่เป็นโรคตับหรือไตบางชนิด เมื่อดื่มในปริมาณมากและสะสม อาจทำให้การทำงานของอวัยวะบกพร่อง ขอเชิญชวนให้ทุกคน ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง ร่วมกันสานพลัง สร้างสังคมแห่งการมีสุขภาวะดีรอบด้าน"น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

 

  • ห้ามจัดแข่งขันดื่มเหล้าเด็ดขาด ผิดกฎหมาย

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า จากกรณีที่เคยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โพสต์เชิญชวนแข่งขันดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรี ภายใน 6 ชั่วโมง ถ้าใครชนะจะได้รางวัล มีความเสี่ยงมาก เพราะเพิ่มระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ภายในไม่กี่ชั่วโมง อาจทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม การรับรู้ลดลง จำเหตุการณ์ไม่ได้ จึงไม่แนะนำให้สถานบันเทิง เทศกาลดนตรี งานบุญประเพณี

การส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดแข่งขันดื่มโดยเด็ดขาด เพราะอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ใน ม.32 เรื่องการห้ามโฆษณา วรรค 1 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มทางตรงหรือทางอ้อม

หากพบกระทำความผิดจะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงหากเกิดการเสียชีวิตผู้จัดแข่งขันอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.420 และกฎหมายอาญา ม.291 ในกรณีประมาทเลินเล่อ และทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท