เตือนภัยเงียบ ‘โรคกระดูกพรุน’ ปัญหาสาธารณสุข “โรคฮิตผู้สูงวัย”

เตือนภัยเงียบ ‘โรคกระดูกพรุน’  ปัญหาสาธารณสุข “โรคฮิตผู้สูงวัย”

"โรคกระดูกพรุน" เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มากถึง 50 % และการมีการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย จะเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการหกล้มเพียงเบาๆ สามารถทำให้กระดูกหักได้ 

วันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันกระดูกพรุนโลก โดยมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ หรือ International Osteoporosis Foundation (IOF) กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของกระดูกให้มากขึ้น เนื่องจากกระดูกเป็นอวัยวะที่สำคัญและแข็งที่สุดในร่างกายแต่คนส่วนใหญ่กลับมองข้าม ทำให้มีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปัญหาสาธารณะสุขระดับโลก

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่มักจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 50 ปี ซึ่งสามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุ 60-90 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงถึง 60 %

- กระดูกส่วนที่เป็น โรคกระดูกพรุน มากที่สุด ได้แก่

  • กระดูกปลายแขน 80%
  • กระดูกต้นแขน 75%
  • กระดูกสะโพก 70%
  • กระดูกสันหลัง 58%

 

จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย จึงทำให้เกิดโรคนี้ในผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากโดยผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะพบ โรคกระดูกพรุน มากถึง 50 % นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าคนไทยยังมีภาวะขาดแคลเซียม และวิตามินดีอีกด้วย อีกทั้ง โรคกระดูกพรุน ยังสามารถพบได้ในผู้ชาย แต่น้อยกว่าผู้หญิง โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมาจากโรคพิษสุราเรื้อรัง และการขาดฮอร์โมนเพศชาย

 

สูงวัยกับสาเหตุการหกล้มและปัจจัยที่ทำให้เสียมวลกระดูก

ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาเรื่องกระดูกที่เกิดจาการลื่นล้ม หรือจากภาวะกระดูกพรุน อันเป็นความเสื่อมที่เกิดจากวัยที่สูงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก และมักเกิดการล้มซ้ำ นำมาซึ่งความทุพพลภาพ การสูญเสียคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอันมหาศาล หรืออาจทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการหกล้มเพียงเบาๆ สามารถทำให้กระดูกหักได้ 

- การหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
  • มีปัญหาการทรงตัว
  • ปัญหาสายตา
  • การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ง่วงซึม
  • สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม จะช่วยทำให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่จะเกิดขึ้นได้    

- ปัจจัยที่ทำให้เสียมวลกระดูก 

  • ได้รับสารอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมไม่เพียงพอ
  • กรรมพันธุ์
  • ภาวะหมดประจำเดือน
  • การสูบบุหรี่
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • เป็นโรคเรื้อรัง

ผู้ที่เป็นมักมีอาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง อาจมีอาการปวดบริเวณที่กระดูกยุบตัวลงกระดูกเปราะและหักง่าย จึงต้องระวังการหกล้มในผู้สูงอายุ   

 

อายุ 40 ปี ระวังโรคกระดูกสันหลังเสื่อม 

นอกจากโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังมี โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ที่ต้องให้ความใส่ใจ "นพ.ศรัณย์ ก่อวุฒิกุลรังษี" แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ส่วนใหญ่พบในวัย 40 ปีขึ้นไปแต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกาย

 

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม 

การรักษากระดูกสันหลังเสื่อม มีทั้งการรักษาแบบอนุรักษ์-ให้ยาลดปวดหรือยาต้านอักเสบ และยาลดปวดเส้นประสาท-การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน การดึงหลังหรือคอ-การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปวดตามข้อบ่งชี้

และ การรักษาโดยการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดเพื่อยกจุดกดทับ หรือการผ่าตัดเพื่อเสริมความมั่นคง โดยการใส่เหล็กดาม

 

การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม 

ทั้งนี้ การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม 

  • ไม่ควรใช้หลังในท่าเดิม ๆ นานเกินไป
  • ควรหยุดพักยืดเส้นยืดสาย เช่น การนั่งเกิน 45 นาที ควรมีเวลาพักเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 10-15 นาที 
  • ควรออกกำลังกายการฝึกเกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง 
  • เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลางลำตัว เช่น Planking เพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้กับร่างกายด้วย

 

การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังแตกหัก

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและเส้นประสาท รพ.เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการฉีดซีเมนต์ (Bone Cement) เพื่อรักษากระดูกสันหลัง แตกหักและทรุด จากภาวะโรคกระดูกเสื่อมตามช่วงอายุ โรคกระดูกพรุน หรือ อุบัติเหตุทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวด แผลเล็กแทบจะมองไม่เห็นเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด พักฟื้นแค่คืนเดียว

การฉีดซีเมนต์โดยทั่วไป มีทั้งการฉีดซีเมนต์อย่างเดียวตรงๆและใช้ Balloon ขยายก่อน เพื่อที่จะฉีดซีเมนต์เข้าไปให้ได้ปริมาณที่มาก ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำหัตถการนี้โดยเฉพาะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประสบปัญหาเรื่องกระดูกให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด

 

เสริมความแข็งแรงกระดูก ตั้งแต่วัยเด็ก

อย่างไรก็ตาม การป้องกัน โรคกระดูกพรุน สามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กได้ โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ควรมาพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา และการปฎิบัติตัวที่เหมาะสม