ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.เมดพาร์ค นวัตกรรมรักษาโรคยากและซับซ้อน
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก ประเทศไทยพบว่าโรคข้อเสื่อมถือเป็น โรคที่พบบ่อยอันดับต้นๆ
โดยสถิติผู้มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 จำนวน 11 ล้านคน พบผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในผู้ชาย 5.8 % และผู้หญิง 12 % ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปตรวจพบโรคกระดูกพรุนมากกว่า 50%
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ หากมีคนเดินมา 5 คน จะมี 1 คนเป็นผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมีปัญหาโรคกระดูกข้อเสื่อม เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมไปตามสภาพ อย่าง โรคข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม หากได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมนวัตกรรมเครื่องมือที่มีคุณภาพมาตรฐานจะทำให้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้โดยไม่เป็นภาระพึ่งพิงของบุตรหลาน
ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดให้บริการมาแล้วประมาณปีเศษ โดยเฉลี่ยมีการผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกและข้อทุกวัน โดยแพทย์ผู้ชำนาญการกว่า 30 คน หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ข้อ เอ็น เส้นเอ็น ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เนื้องอกกระดูก การเปลี่ยนสะโพก ข้อเข่า ต่อเส้นประสาท รวมถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกช่วงอายุ
ภายใต้การนำ ของ นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ อนุสาขาการผ่าตัดมือและจุลยศัลยกรรม ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ อนุสาขาศัลยกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา และ นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ อนุสาขาการผ่าตัดกระดูกสันหลัง
- แนวโน้มของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อเพิ่มขึ้น
นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล หัวหน้าศูนย์กระดูกและข้อผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านกระดูกและข้อ ชำนาญการด้านศัลยกรรมทางมือ การต่อนิ้ว ต่อแขน มากว่า 30 ปี กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้มีทีมแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ผู้ชำนาญการด้านกระดูกทุกสาขา และเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่แพทย์จากแต่ละสาขาร่วมกันออกแบบfacility วางแผนการรักษาและดูแลผู้ป่วยโดยคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กล่าวว่าประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการรักษาโรคกระดูกและข้อได้ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งบุคลากร นวัตกรรม และการบริการที่ดี เป้าหมายการให้บริการ จะมุ่งให้การบริการทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงเป็นรพ.ที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่แพทย์ไทยและแพทย์นานาชาติ สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
“โรคกระดูกและข้อ” แบ่งออกได้หลายชนิดในทางการแพทย์มีการวินิจฉัยโรคข้อมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งโรคกระดูกและข้อเป็นโรคที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมไปตามสภาพ อย่าง โรคข้อสะโพกเสื่อม หากได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ และมีนวัตกรรมเครื่องมือที่มีคุณภาพมาตรฐานย่อมทำให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องให้คนอื่นมาแบกรับภาระ
ตลอดระยะเวลา 33 ปี ในการเป็นหมอกระดูกและข้อ นอกจาก“ศ.นพ.กีรติ” จะทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาคนไข้ทั้งในส่วนของรพ.เมดพาร์ค รร.แพทย์ คลินิกพิเศษ เพื่อจะได้ดูแลคนไข้ในหลายภาคส่วนแล้ว ยังทำหน้าที่พัฒนาหลักสูตรในการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดข้อเสื่อมรองรับผู้ป่วยที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย
- รพ.เมดพาร์ค เป็นศูนย์กลางบริการระดับสากล
“ผู้บริหาร รพ.เมดพาร์ค มีวิสัยทัศน์ชัดเจน ในการเป็นศูนย์กลางในงานบริการระดับสากลและนานาชาติ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้นานาชาติแห่งแรกในไทย ปี2565 จะมุ่งการบริการที่เป็นเลิศมากขึ้น การดูแลแบบองค์รวม นำนวัตกรรม ศาสตร์การผ่าตัดใหม่ๆ มาใช้ และสร้างทีมเป็นศูนย์การเรียนรู้ ทีมบริการ ทีมรองรับดูแลผู้ป่วยให้ได้รับรองมาตรฐานไทยและต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยทุกคนที่มารักษารพ.เมดพาร์ค ได้รับการดูแลทั้งกาย ใจ และใช้ชีวิตคุณภาพดี”ศ.นพ.กีรติ กล่าว
นพ.สิริพงศ์ รัตนไชย ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ เฉพาะการผ่าตัดกระดูกและเปลี่ยนข้อเทียม ประสบการณ์การทำงานด้านกระดูกและข้อมา 21 ปี เล่าว่า เหตุผลสำคัญที่ผมมาร่วมทีม รพ.เมดพาร์ค เพราะอยากเป็นฟันเฟืองหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการวินิฉัยดูแลผู้ป่วยให้ดี การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการการพัฒนาและการวิจัยด้านการแพทย์ ให้ไปสู่ความสำเร็จระดับนานาชาติ
- เวชศาสตร์การกีฬาดูแลผู้บาดเจ็บ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่าได้รักษาดูแลผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อมากกว่า 20 ปี ซึ่งการบาดเจ็บจากการเป็นนักกีฬา หรือเล่นกีฬาต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ เนื่องจากการบาดเจ็บแต่ละส่วนของร่างกายต้องรักษาและดูแลแตกต่างกัน ทีม Sport Medicine ของ รพ. เมดพาร์ค มีแพทย์รุ่นใหม่ ที่จบทางด้านเวชศาสตร์ทางกีฬาจากต่างประเทศ แต่ละท่านสามารถให้การรักษาการบาดเจ็บต่างๆ พร้อมทีมสหวิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีมงานพร้อมดูแลผู้ป่วยนักกีฬา ให้สามารถฟื้นตัวและกลับไปเล่นกีฬาได้
- ศูนย์กระดูกสันหลังรพ.เมดพาร์ค
นพ.ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ เฉพาะทางการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และรองหัวหน้าศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์กระดูกสันหลังนั้น เราได้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคทางกระดูกสันหลังรอบด้านทั้งที่พบทั่วไปและในกลุ่มโรคที่มีความซับซ้อนแบบองค์รวม ด้วยทีมแพทย์มากประสบการณ์ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของตนที่จะเน้นในส่วนของการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงในเด็กและวัยรุ่น (Scoliosis correction), การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลผ่าตัดเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery) และการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาความผิดปกติทางด้านกระดูกสันหลัง ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติมีความสุขได้ โดยเฉพาะในส่วนของโรคกระดูกสันหลังคดเอียงในเด็กนั้น ในปัจจุบันพบว่ามีถึงร้อยละ 80 ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ภาวะนี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบในอนาคตทั้งต่อสรีระของผู้ป่วยรวมถึงมีผลระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจอันเป็นผลจากความคดเอียงนั้นๆได้
- ความท้าทายของเคสผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
“นางปราณี ทับทิม” ประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกหักบริเวณเหนือข้อเข่าและได้รับการผ่าตัดรักษาเมื่อหลายสิบปีก่อน ต่อมากระดูกที่หักเกิดการผิดรูป โค้งงอ ไม่ตรงเหมือนกระดูกปกติ ทำให้การลงน้ำหนักของข้อเข่าเปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมตามมา เกิดอาการเจ็บ เดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้นานนับสิบปี
ต่อมาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดกับทางทีมแพทย์ “รพ.เมดพาร์ค” ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นำวิถีมาช่วยกำหนดแนวในการตัดกระดูก และวางข้อเทียม เพื่อให้สามารถวางตำแหน่งของข้อเทียมได้ถูกต้องและแม่นยำ รวมถึงผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้ง 2 ข้างในการผ่าตัดครั้งเดียว และมีทีมแพทย์สหสาขาช่วยดูแลคนไข้ให้ทุกอย่าเป็นไปตามแผน ผลของการผ่าตัดคนไข้สามารถลุกขึ้นยืนเดินครั้งแรก ในห้องพักฟื้นหลังผ่าตัด ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากการผ่าตัด ปลอดภัย และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
นางปราณี เผยว่า ตอนแรกฟังคุณหมอบอกว่าผ่าแล้วจะเดินได้เลย ยังไม่เชื่อ แต่พอทำจริงก็แปลกใจเพราะผ่าวันแรกก็เดินได้เลยหลังการผ่าตัด 2 ชั่วโมง เหมือนได้ชีวิตกลับมาอีกครั้งภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ที่อบอุ่นและปลอดภัย เสมือนหนึ่งเป็นญาติพี่น้อง