"อีโบลา"อัตราป่วยตายสูง โรคไม่ใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีน
"อีโบลา" ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นในประเทศทวีปแอฟริกา อัตราป่วยตายสูง ไม่มียาเฉพาะ ไม่มีวัคซีน ไทยต้องเข้มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง ที่สนามบินสุวรรณภูมิมากขึ้น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola hemorrhagic fever) ไม่ใช่โรคใหม่ มีการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะในประเทศทวีปแอฟริกา ซึ่งระลอกนี้ เริ่มเมื่อเดือนก.ย. 2565 ในประเทศยูกันดา โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดา และองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ต.ค.2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย 49 % ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย
แต่ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ยูกันดา" พบ "อีโบลา" ระบาดรอบใหม่ เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
ไวรัสอีโบลาระบาด ! ยูกันดาสั่งล็อกดาวน์ 2 เมือง 21 วัน
คร.เข้มมาตรการสกัด "อีโบลา" ในผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา
สายพันธุ์อีโบลา
ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่า อีโบลาเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุดโรคหนึ่ง ปัจจุบันไวรัสอีโบลารวม 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ซาอีร์ ซูดาน ไอวอรี่โคสต์ และเรสตัน
3 สายพันธุ์แรก มีอัตราป่วยตายสูงถึง 50-90 % ส่วนเรสตันพบในฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดรุนแรงในลิง แต่ในคนไม่ทำให้เกิดอาการ ยังไม่พบรายงานจากการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอยที่ลอยในอากาศการติดต่อจากคนสู่คน
การระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 อัตราป่วยตายเฉลี่ย 53 % รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ อัตราป่วยตายเฉลี่ย 68 %
แหล่งรังโรคตามธรรมชาติของอีโบลา
- ยังไม่ทราบแน่ชัดจนปัจจุบัน ทวีปแอฟริกา และแปซิฟิกตะวันตกดูเหมือนว่าน่าจะเป็นแหล่งโรค แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ ถึงแม้ว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง จะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในมนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่รังโรค เชื่อว่าติดเชื้อมาจากสัตว์ป่า ปัจจุบัน ตรวจพบเชื้อในพวก กอริลลา ชิมแปนซี (ไอวอรี่โคสต์ และคองโก) กอริลลา(กาบอนและคองโก) และในสัตว์พวกกวางที่มีเขาเป็นเกลียว(คองโก)
การติดต่ออีโบลา
- สัมผัสโดยตรง กับ เลือด สิ่งคัดหลั่ง อวัยวะ หรือน้ำจากร่างกายผู้ติดเชื้อ งานศพ ญาติผู้เสียชีวิตที่สัมผัสร่างกายของผู้เสียชีวิต ผู้ดูแลลิงชิมแปนซี กอริลลาที่ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รักษาผู้ป่วยอีโบลา โดยไม่ป้องกัน ระยะแพร่เชื้อ ตั้งแต่เริ่มมีไข้ และตลอดระยะที่มีอาการ
- ระยะฟักตัว 2-21 วัน โรคนี้ พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการ ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ตามด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน ผื่น ไต และตับไม่ทำงาน บางรายมีเลือดออกทั้งภายใน และภายนอก ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำ
- การวินิจฉัยโดยการตรวจ antigen-RNA หรือ genes ของไวรัสจากตัวอย่างเลือด หรือ ตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส หรือ แยกเพาะเชื้อไวรัส
การตรวจตัวอย่างเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ต้องทำในห้องปฏิบัติการที่มีการป้องกันระดับสูง ระดับ 4 การรักษายังไม่มีการรักษาเฉพาะรวมทั้งยังไม่มีวัคซีน การทดแทนน้ำ-เกลือแร่ให้เพียงพอ
การรักษาอีโบลา
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไม่มีการรักษาจำเพาะ ในรายที่มีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ให้สารนํ้าอย่างเพียงพอ และยังไม่มีวัคซีน
อีโบลากับประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย จัดให้โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แม้ว่าไทยจะไม่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้เลย อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปมาระหว่างประเทศ ย่อมมีความเสี่ยงในการนำโรคจากพื้นที่หนึ่งมายังอีกพื้นที่หนึ่งได้ ประเทศไทยจึงอาจมีความเสี่ยงจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่กำลังระบาดได้
จากการระบาดรอบนี้ในยูกันดา กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 โดย ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ
และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์