สมุนไพร “พืชเศรษฐกิจใหม่” ฟ้าทะลายโจร พระเอกชูโรง
ที่ผ่านมา “สมุนไพร” มีบทบาท และได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เนื่องจาก “ฟ้าทะลายโจร” ที่ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเขียว มีการคาดการณ์ว่า ตลาด "ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ไทยจะมีมูลค่ามากถึง 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2569
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึง แนวโน้มอนาคตของผู้บริโภคทั่วโลก พบว่าผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกในด้านการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และพบว่ากว่า 70% ต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางเลือกที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค
ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันเปิดรับผลผลิตที่มาจากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นหนึ่งตัวเลือกสำหรับป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังพบข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่คาดการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาท ภายในปี 2569
“ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าตรา “เกษตร” ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่กล่าวมา นับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะสามารถขยายตลาดออกไปรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานในภูมิภาค ยกระดับการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นอีกหนึ่งหนทางในการผลักดันสมุนไพรให้เป็น “พืชเศรษฐกิจใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ฉมา มีจุดเริ่มต้นจากฟาร์มธรรมชาติ ในปี 2555 ปลูกผักออแกนิค และสร้างฟาร์มมาตรฐานระดับสากล IFOAM พร้อมกับก้าวสู่ธุรกิจสมุนไพร ฉมา เฮิร์บ ในปี 2560 ผลิตเครื่องสำอางผ่านการขึ้นทะเบียนกระทรวงสาธารณสุข แบบครบวงจร ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกคือ น้ำมันมะรุมออร์แกนิคสำหรับทาผิว และมีสินค้าอื่นๆ ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ พร้อมกับ จัดตั้ง ฉมา อายุรเวท คลินิก การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ ในปี 2561 ตรวจสมฎฐานธาตุ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงร่างกายอีกมากมาย โดยใช้องค์ความรู้สมุนไพรเป็นแกนหลัก
ตลาดฟ้าทะลายโจร 5.2 หมื่นล้าน
ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีมูลค่าการบริโภคสูงถึงกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลยอดขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร “ฉมา” โตตามตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากได้รับการยอมรับเป็นสมุนไพรทางเลือกในการบรรเทาอาการผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ประกอบกับภาครัฐและเอกชน ร่วมผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เปิดตลาด สร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคทั่วโลก เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรตัวอื่นๆ ออกสู่ตลาดโลก
แนวโน้มอนาคตพบผู้บริโภคทั่วโลกมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นทางเลือกด้านการดูแล รักษาสุขภาพ และป้องกันอาการเจ็บป่วยมากขึ้น กว่า 70% ต้องการผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสร้างมูลค่าเพิ่มเริ่มได้ตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงงานแปรรูปที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล มั่นใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนเวทีโลก
ปรินดา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพืชสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาไทยอย่างฟ้าทะลายโจรได้รับความนิยม และมีความต้องการในตลาดโลกสูง ส่งผลให้ภาครัฐตลอดจนภาคเอกชนร่วมกันผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยพระเอกชูโรงอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนับเป็นใบเบิกทางเปิดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างการรับรู้ และความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งเป็นการช่วยชูโรงในการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรตัวอื่นๆ ออกสู่ตลาด
“จากประสบการณ์การพัฒนาการปลูกสมุนไพรในฟาร์มออร์แกนิคมาตรฐานสากลกว่า 100 ไร่ มาร่วมกว่า 10 ปีของฉมา พบผลิตภัณฑ์สมุนไพร 5 ตำรับที่น่าสนใจคือ ยาเบญจโลกวิเชียร (ยาห้าราก) ยาจันทลีลา ยาตรีผลา ยาปราบชมพูทวีป และยาขิง ที่สามารถเป็นทางเลือกใหม่เพื่อดูแลสุขภาพผู้ป่วยตามอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวหรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรแต่ละตัวมีความโดดเด่นต่างกัน”
ยกระดับสมุนไพรออร์แกนิค
ทั้งนี้ ฉมา วางแผนการปลูกสมุนไพรออร์แกนิคที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล จากการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยออร์แกนิค ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากพัฒนาการปลูกพืชสมุนไพรในฟาร์มออร์แกนิคมาตรฐานสากลของ ฉมา เนื่องจากการสร้างมูลค่าเพิ่มสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยต้องควบคุมตั้งแต่คุณภาพอากาศ ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยที่ใช้ในการปลูก ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สู่ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องให้ความสำคัญตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงงานแปรรูปที่ต้องผ่านการรับรองระดับสากล จะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยและส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะสามารถเติบโตในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน ในเรื่องของ “กัญชา” ซึ่งบริษัทก็มีการศึกษามานาน ปัจจุบัน มีการลงทุน โดยร่วมกับวิสาหกิจชุมชน จ.สุพรรณบุรี สนับสนุนในส่วนของกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น “ปรินดา” มองว่า กัญชาหากใช้เป็นก็มีประโยชน์ ช่วยในเรื่องคุณภาพชีวิต การกิน การนอน แต่เรื่องโทษก็ต้องระมัดระวัง ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์
สธ. ปรับปรุงข้อกำหนด ผลิตภัณฑ์อาหาร “กัญชา-กัญชง”
กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ ตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ. 2522 รวม 3 ฉบับ เพื่อเป็นการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ โดยทั้ง 3 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 65 และมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ หรือตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 65 เป็นต้นไป เพื่อให้มีความเหมาะสมและดูแลผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าอย่างปลอดภัย
โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 438 พ.ศ.2565 เรื่องผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่2) ได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของคุณภาพหรือมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง โดยได้กำหนดให้ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค หรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้ปรุง หรือผู้จำหน่ายอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์ปรุงรส, ซอส, น้ำปลาผสมชนิดเหลวและแห้ง น้ำเกลือปรุงรส ที่ต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกินร้อยละ 0.0028 ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ต้องมีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรรม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ
กำหนดในส่วนการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ เช่น มีข้อความระบุว่าไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย รวมถึงกรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความที่ชัดเจนว่า ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค เป็นต้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 437 พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่2) โดยปรับปรุงคุณภาพหรือมาตรฐาน โดยการยกเลิกข้อจำกัดปริมาณสาร CBD ในเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหาร น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนเมล็ดกัญชง พร้อมกับปรับปรุงบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดยยกเลิกการควบคุมปริมาณสาร CBD แต่ยังคงการควบคุมปริมาณสาร THC ตามประกาศฯ ฉบับที่ 425 พ.ศ. 2564
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ. 2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่429 พ.ศ. 2564) โดยได้เพิ่มข้อกำหนดให้สามารถนำสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้