ทำอย่างไร?....เมื่อ"เด็กติดหวาน" ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
กรมอนามัย เผยแนวโน้ม "เด็กไทยติดหวาน" โดยเฉพาะเครื่องดื่มชงรสหวาน แนะโรงเรียน ผู้ปกครองจัดเครื่องดื่มหวานน้อย หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพ
ผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 6 ปี ขึ้นไป ปี 2564 เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มชง เช่น ชา กาแฟ น้ำหวาน ชานม เป็นต้น ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบแนวโน้มเด็กไทยติดหวาน โดยในเด็กอายุ 6 - 14 ปี ร้อยละ 25 และวัยรุ่นถึงวัยอุดมศึกษา อายุ 15 - 24 ปี ร้อยละ 24.9 ดื่มเครื่องดื่มชง จำนวน 1- 2 วัน ต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 45 - 59 ปี ร้อยละ 30.9 และอายุ 25 - 44 ปี ร้อยละ 27.4 ดื่มเครื่องดื่มชงทุกวัน
เด็กไทยติดหวาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เปิดเผยว่า การดื่มเครื่องดื่มชงมักจะเติมน้ำตาลปริมาณมากเพื่อชูรสชาติ หากดื่มเป็นประจำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมติดหวาน
ส่วนน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไป จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และเกิดภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"ติดหวาน-น้ำหนักเกิน" จุดเสี่ยงภาวะ "PCOS" - "ตั้งครรภ์" ยาก
คนไทย 'ติดหวาน' กินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา
อันตรายเด็กไทยติดหวาน
อาการติดหวานของเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ ยิ่งให้ลูกทานของหวานๆ เร็วเท่าใด โอกาสของการติดหวานจะตามมาเร็วเท่านั้น
ว่ากันว่า น้ำตาลจากความหวานให้พลังงานเพียงอย่างเดียว และหากมีมากเกินไปร่างกายจะทำการขับออกอาจทำให้เป็นเบาหวานได้ ยิ่งปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นเบาหวานตั้งแต่ยังเด็กมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเด็กที่ติดหวานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะชอบอาหารที่มีไขมันด้วย
นอกจากความหวานจะทำให้ฟันน้ำนมผุก่อนวัยอันควรและจะผุเร็วมากขึ้น และเชื้อฟันผุที่เกิดจากอาหารหวานจะลามไปเรื่อยๆ จนถึงฟันแท้เนื่องจากเชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อกันได้
เมื่อกินหวานมากฟันผุ เด็กก็จะปวดฟัน เหงือกอักเสบ ไม่อยากเคี้ยวของแข็ง อยากกินแต่อาหารนิ่มๆ เช่น แป้ง ไขมัน หรืออาหารเหลว ไม่ยอมกินผักผลไม้ ทำให้ฟันยิ่งผุเข้าไปใหญ่แถมได้อาหารไม่ครบหมู่และส่งผลต่อร่างกายต่างๆ ตามมาได้
โรงเรียนต้องลดพฤติกรรมเด็กไทยติดหวาน
นพ.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทย จำเป็นต้องอาศัย ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ครูและผู้ปกครองด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาล
โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมนักเรียนส่วนใหญ่ต้องกินอาหารและเครื่องดื่มจากโรงอาหาร และร้านค้าภายในโรงเรียน ดังนี้
โรงเรียนควรใส่ใจเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก
เลือกปรุงเมนูอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม มีร้านจำหน่ายผลไม้สดพร้อมกิน
เลือกจำหน่ายเครื่องดื่มแบบที่ไม่เติมน้ำตาลหรือเครื่องดื่มหวานน้อยที่เติมน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หากน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหวานจัด
ควรต้องหลีกเลี่ยง โดยอ่านที่ฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนนำมาจำหน่าย
ผู้ปกครอง ร่วมป้องกันพฤติกรรมติดหวาน
ทั้งนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครู ควรปลูกฝังให้เด็กลดพฤติกรรมติดหวาน กินหวาน โดยให้ความรู้เรื่องการบริโภค และเป็นตัวอย่างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนี้
ควรส่งเสริมให้เด็ก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้
เลือกเครื่องดื่มชงรสหวานน้อย หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์
เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม พยายามควบคุมให้เด็กกินน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน
หากเด็กอยากดื่มน้ำหวาน ช่วงเริ่มต้นควรลดขนาดหรือความถี่การดื่มเครื่องชงรสหวานลง หรือเลือกดื่มน้ำผลไม้สดไม่เติมน้ำตาลแทน
น้ำเปล่ายังคงเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6 - 8 แก้วต่อวัน
หลีกเลี่ยงนมผงดัดแปลงที่ผสมน้ำตาล ควรให้ดื่มนมรสจืดที่เป็นนมโคแท้ 100 %
ให้เด็กรับประทานอาหารที่รสชาติหลากหลาย ควรให้ลูกทานผลไม้ที่มีรสหวานตามธรรมชาติ
ไม่ควรยัดเยียดอาหารให้ลูก เช่น เห็นลูกกินนมหวานได้ดีก็ให้ลูกกินแต่นมหวานหรือบังคับให้ลูกกินบ่อยๆ
การปรุงรสอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว หากไม่จำเป็นไม่ควรใส่น้ำตาลเพราะตามปกติแล้วคนขายอาหารมักจะเติมน้ำตาลลงในน้ำซุปแล้ว นอกจากนี้ควรเน้นให้ลูกดื่มน้ำเปล่า และหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม
ควรรักษาความสะอาดฟันให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างผักผลไม้ เพื่อรักษาฟันน้ำนมไม่ให้หลุดก่อนกำหนด ฟันแท้ที่ตามมาจะขึ้นได้รูปสวยงาม