ห้าม! จัดจุดสูบ "ช่อดอกกัญชา"ในร้านขาย หลังเป็นสมุนไพรควบคุม
ประกาศสธ.เรื่องช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุม หมายรวมทั้งของกัญชากัญชง ข้อสำคัญ กำหนดต้องขออนุญาต ห้ามขายกลุ่มเปราะบาง ห้ามโฆษณา ห้ามสูบในร้านที่ขาย
ที่ผ่านมาประกาศให้ “กัญชา”ทั้งต้นเป็นสมุนไพรควบคุม แต่การคุม “ช่อดอก” ส่วนที่เป็นปัญหาที่สุด นับว่าเป็นช่องโหว่ที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยังไม่เฉพาะเจาะจง ในการควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ จนล่าสุด ออกประกาศ “เฉพาะช่อดอก”เท่านั้น
ส่วนของกัญชาที่เป็นปัญหาที่สุด คือ “ช่อดอกกัญชา” เนื่องจากมีปริมาณ THC สูง ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมีสูงถึง 10-20 % ขณะที่กฎหมายกำหนดสารสกัดจากกัญชาต้องมีไม่เกิน 0.2 % จึงจะไม่ถือเป็นยาเสพติดช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม
เมื่อร่างพรบ.กัญชากัญชง ยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จึงมีเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในเรื่องต่างๆเท่านั้นที่ใช้ควบคุมกำกับการใช้กัญชา หลังมีการปลดล็อกจากยาเสพติด ทั้งการผลิตและการจำหน่าย รวมถึง การประกาศให้ “กัญชา”เป็นสมุนไพรควบคุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อัปเดต สิ่งทำได้-ไม่ได้ เมื่อเฉพาะ"ช่อดอกกัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม
อนุทิน ลงนามประกาศ "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม
กางกฎหมายสธ.คุม “กัญชา” ยังมี “จิ๊กซอว์”ที่ขาดหายไป
จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยกำหนดให้เฉพาะส่วนของ “ช่อดอก”เท่านั้นเป็นสมุนไพรควบคุม และมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นี่จึงเป็นเหมือนการ“ตีกัน”ไว้ เพราะดูท่าแล้วร่างพรบ.กัญชากัญชงเป็นไปได้สูง ที่จะไม่ผ่านสภาฯ เมื่อมีการหยิบมาเข้าวาระประชุมอีกครั้ง ที่คาดว่าจะเป็นหลังการประชุมเอเปก
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า ประกาศนี้จะหมายรวมถึงช่อดอกของกัญชาและกัญชง แต่หากเป็นในร่างพรบ.กัญชากัญชงจะแยกส่วนกัน โดยใช้ปริมาณTHCในช่อดอก เป็นตัวระบุว่ากัญชาหรือกัญชง
ข้อกำหนดตามประกาศ ประกอบด้วย 1.ผู้ที่จะนำช่อดอกกัญชากัญชงไปใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป ต้องขออนุญาตก่อน และหากจะนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้นด้วย 2.ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้ คือ ต้องจัดทำและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ จำหน่ายให้ใครและจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมจะจัดทำเป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ รวมถึง ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบตีประกาศกำหนด
3.ห้ามจำหน่าย ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร 4.ห้ามจำหน่าย ให้กับนักเรียนนิสิตหรือนักศึกษา 5. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ แปลว่าห้ามขายช่อดอกแล้วจัดให้มีพื้นที่สูบในสถานที่ขาย หากสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้าประกาศฉบับล่าสุด จัดให้มีพื้นที่สูบในสถานประกอบการไว้ จะต้องปิดทั้งหมด เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรอง ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์
6.ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 7.ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าในสถานที่ ดังนี้ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก และ8.ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า
“ประกาศนี้จะควบคุมกำกับได้เฉพาะผู้ที่ต้องขออนุญาตใช้ช่อดอกเท่านั้น แต่จะไม่สามารถไปควบคุมการใช้ในครัวเรือนได้ จึงไม่มีเรื่องของการกำหนดจำนวนการปลูกได้ในครัวเรือนและปริมาณการซื้อแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่มีการกำหนดไว้ในร่างพรบ.กัญชากัญชงต้องให้พรบ.มีผลบังคับใช้จึงจะสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้สูบในครัวเรือนจำเป็นต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบควบคู่ไปด้วย”นพ.ธงชัยกล่าว
ด้านนพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์และการส่งออกจะมีอายุคราวละ 3 ปี โดยคุณสมบัติผู้ขออนุญาตเป็นได้ทั้งบุคคลและนิติบุคคล โดยที่ผ่านมามีการยื่นขออนุญาตราว 5,000 ราย และกรมมีการออกใบอนุญาตไปแล้ว 3,097 ราย สามารถขอได้ที่กรมและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ด้วย
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีประกาศเรื่องนี้ ในส่วนของการใช้ประโยชน์จากช่อดอกจะมีกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ว่า “ห้ามนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารที่จำหน่ายในร้าน” ส่วนที่นำมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จจะต้องขออนุญาตตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น พรบ.อาหาร พรบ.เครื่องสำอาง พรบ.ยา เป็นต้น
และกฎหมายของกรมอนามัย ที่กำหนดให้กลิ่นและควันเป็นเหตุรำคาญ หากพบการสูบในที่สาธารณะสามารถร้องเรียนเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการได้ ขณะที่การนำส่วนอื่นๆของกัญชาไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ก็มีกำหนดว่าจะต้องมีการแสดงรายการเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอย่างชัดเจน มีคำแนะนำในการบริโภคอย่างชัดเจนถึงกลุ่มต้องห้ามรับประทาน เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีประวัติแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ และการวางขายใบกัญชาตามท้องถนน จะมีการเอาผิดทางร้านฐานไม่ถูกสุขลักษณะ