สถานการณ์เตียงโควิด-19 เมื่อผู้ป่วยนอน รพ.กำลังขาขึ้น
ในช่วงฤดูหนาว ตามฤดูกาลการระบาดของโรคทางเดินหายใจที่มากขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังเป็นช่วงขาขึ้น small wave ขณะที่อัตราครองเตียง อาการโควิด และแนวทางรักษาที่เปลี่ยนไป หลังจากที่ไทยปรับเป็นโรคเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2565 รายงานผู้ป่วยโควิด-19 ปอดอักเสบ 649 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 385 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าไม่มาก
ปัจจุบันอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ประมาณ 8.5% ของเตียงทั้งหมด ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ อย่างไรก็ตาม บางจังหวัดที่เป็นพื้นที่รับส่งต่อผู้ป่วยอาจจะมีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 20-30% แต่ยังรับไหว เพราะระบบสาธารณสุขสามารถส่งต่อข้ามพื้นที่ได้ ขณะที่ ในช่วงเดือนพ.ย.2565 ที่ผู้ป่วยต่ำ มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 5 % ส่วนช่วงที่ระบาดรุนแรง อัตราครองเตียงอยู่ที่ 20-30%
“ช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทุก รพ.จะปรับเตียงที่มีอยู่มาดูแลผู้ป่วยโควิดหมด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ปรับกลับไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ เหมือนเดิม เมื่อตอนนี้ผู้ป่วยโควิดมากขึ้นหลาย รพ.ก็มีการเตรียมความพร้อม ด้วยการปรับระบบเตียงกลับมาดูแลโควิดอีก แต่ภาพรวมอัตราครองเตียงยังไม่ได้เป็นปัญหา ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมีการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อจึงไม่ป่วยหนัก “นพ.โสภณ กล่าว
เสียชีวิตจากโควิด-19
สำหรับการเสียชีวิตจากโควิด-19 นพ.โสภณ กล่าวว่า หากเป็นการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะต้องมีภาวะปอดอักเสบก่อน ทำให้ปอดทำงานไม่ได้ ระบบทางเดินหายใจทำงานล้มเหลว แต่กรณีที่ป่วยเป็นโรคร่วมด้วย อาจจะมีติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเป็นโรคหัวใจ แต่ในช่วงที่เสียชีวิตอาจจะมีเชื้อโควิดมาก จึงอาจจะเป็นคนที่เสียชีวิตร่วมโควิด-19 แต่ไม่ได้เกิดจากโควิดโดยตรง ซึ่งกรณีหลังนี้พบกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า 70% ของผู้เสียชีวิต จะรับวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จึงอยากเชิญชวนให้มารับวัคซีน
ข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และผู้มีโรคร่วม และไม่ฉีดวัคซีน
- 70% ในผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม
- 50% ไม่ฉีดวัคซีนเลย
- 20% ฉีดแค่ 2 เข็ม
“ขอให้ลูกหลานสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทุกกลุ่ม หากมีอาการไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย รีบไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่อาการของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” นพ.ธงชัย กล่าว
แนวทางรักษาโควิด-19ใหม่
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 มีการปรับแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ฉบับที่ 26 โดยสาระสำคัญที่มีการปรับปรุงแบ่งเป็น 4 กรณี
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนป้องกันอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนป้องกันอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ให้ยาต้านไวรัส เป็นแพกซ์โลวิด หรือเรมเดซิเวียร์ หรือ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือโมลนูพิราเวียร์
4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วัน หลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
“ระยะนี้ มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการระบาดแบบ Small Wave การรักษาไม่แตกต่างจากเดิม รวมทั้งอาการของผู้ติดเชื้อก็ไม่แตกต่างจากเดิม ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งที่สอง เท่าที่ได้สอบถามอาการจากผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะระบุว่า การติดเชื้อครั้งที่สอง อาการน้อยกว่าการติดเชื้อครั้งแรก เพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันแล้ว"นพ.ธงชัยกล่าว
ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19อย่างน้อย 4 เข็ม
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์เดิมที่ใช้จริงในประเทศไทย (real world data) ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ International Journal of Infectious Diseases พบว่า
- วัคซีนจะลดความรุนแรงและการเสียชีวิตลงร้อยละ 89 ในผู้ที่รับวัคซีน 3 เข็ม
- และกลุ่มที่ได้ 4 เข็ม ไม่พบภาวะรุนแรงหรือการเสียชีวิตเลย ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อใดก็ตาม
สธ.แนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์