“แพ็คเกจบริการแพทย์แผนไทยฯ” รองรับรพ.สต.ถ่ายโอนไปอบจ.
ภารกิจใหม่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เมื่อรับถ่ายโอนรพ.สต.จากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงต้องเร่งพัฒนาระบบปฐมภูมิ โดยเฉพาะบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ สร้างสุขภาวะที่ดี มุ่งเน้นแพ็คเกจตามกลุ่มเป้าหมาย
ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)วันที่ 30 พ.ย. 2565 มีการลงนามบันทึกการส่งมอบและ MOU ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แล้ว 40 จังหวัด รวม 2,932 แห่ง จากที่ปีงบประมาณ 2566 จะมีการถ่ายโอน 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือกและการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากร ด้านสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงาน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ประชาชนเชื่อมั่น เน้นให้ประชาชนดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้น 2 %
2.บริการเป็นเลิศ ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 5 %
และ3.ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า คือ มูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้นำจุดแข็งของบริการแบบองค์รวม(Holistic Care) มาวางแนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.วิเคราะห์และหารูปแบบการให้บริการประชาชนที่เหมาะสมร่วมกับสหวิชาชีพ
2.กำหนด Service Package ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) ตามกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) กลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง และ ผู้ป่วยระยะประคับประคอง
3.กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในแต่ละ รพ.สต.
4. ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs
และ 5.พัฒนาโปรแกรมในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่เหมาะสมและสามารถเชื่อมต่อกับสธ.ในอนาคต
ตัวอย่างการให้บริการแพ็คเกจตามกลุ่มเป้าหมาย ส่วนของการบริการตามกลุ่มวัย ที่รพ.สต. บ้านหนองขอน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ สรรธาร เชื้อรอด นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ บอกว่า ประกอบด้วย กลุ่มแม่และเด็ก มารดาหลังคลอดได้รับการดูแลด้านแพทย์แผนไทย 100 % เด็กแรกเกิดได้รับการนวดกระตุ้นพัฒนาการ 100 %
กลุ่มวัยเรียน/วัยรุ่น มีแกนนำนักเรียนแพทย์แผนไทยในโรงเรียนและได้รับการอบรม 100 % วับรุ่นประสงค์อยากเลิกบุหรี่ได้รับการให้คำปรึกษา การใช้ชาหญ้าดอกขาว 100 %
กลุ่มวัยทำงาน มีความรู้ด้านอาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพในการลดระดับน้ำตาล/ไขมันในเลือด 85 % สามารถทำท่ากายบริหารและฤาษีดัดตน 80 % และได้รับความรู้การดูแลสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทย 100 %
กลุ่มประชาชนทั่วไป/กลุ่มเสี่ยสี่ยง มีความรู้ด้านอาหาร กายบริหาร ฤาษีดัดตน สมุนไพรเพื่อสุขภาพและสมาธิบำบัด 80% เกษตรกรได้รับการคัดกรองสารเคมี และยาสมุนไพร 80 %
และกลุ่มสูงอายุ ดำเนินการโครงการสูงวัยใส่ใจสุขภาพ วิธีรับประทานอาหารอย่างไรให้เป็นยา 80 % ทำท่ากายภาพบริหารแบบไทย 15 ท่าได้ถูกต้อง 80 % และทำลูกประคบเพื่อสุขภาพได้ 100 %
สำหรับการจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการถ่ายโอน วีระชัย ก้อนมณี ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุว่า การจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการถ่ายโอน สปสช.จะจัดสรรค่าบริการไปยังหน่วบริการถ่ายโอน ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการถ่ายโอน
ในส่วนบริการแพทย์แผนไทย ปีงบประมาณ 2566 สปสช.จัดสรร 16.71 บาทต่อคน รวม 797.093 ล้านบาท แยกเป็น 1.บริการหัตถการแพทย์แผนไทย จ่ายแบบเหมาจ่ายตามผลงาน และจ่ายตามราบการบริการ รวม 497.093 ล้านบาท
และ2. รายการยาสมุนไพรกลุ่มที่มีประสิทธิภาพชัดเจน/ใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับงบประมาณสนับสนุนการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและการใช้สมุนไพรทางการแพทย์ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.)
ขณะที่ บุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุก อบจ. จะทุ่มทุนทรัพย์อย่างเต็มที่ให้ รพ.สต.ทุกแห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตาม พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใน 3 ปี ส่งเสริมสนับสนุนการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ บริการกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชกิจฉุกเฉิน และเวชศาสตร์วิถีชีวิต
ผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณของ อบจ. เป็นทุนเพื่อผลิตแพทย์และบุคลากรด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิทั่วประเทศ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่ Smart Primary Care ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคประชาชน ต่ออนามัยใกล้บ้าน และลดความแออัดการใช้บริการของโรงพยาบาล