3 มติสมัชชาสุขภาพฯ สู่โอกาสและความหวังอนาคตไทย

3 มติสมัชชาสุขภาพฯ สู่โอกาสและความหวังอนาคตไทย

ภาคีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมรับรอง 3 มติสมัชชาฯ ครั้งที่ 15 ขับเคลื่อนตามภารกิจ ขจัดความยากจนด้วย "BCG" ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ใช้ "แพลตฟอร์ม CCC" กระตุ้นการออกกำลังกาย พร้อมวางระบบ "หลักประกันรายได้" ภายใต้ 5 เสาหลักสู่ความมั่นคงเมื่อสูงอายุของคนไทย

เมื่อวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ เข้าร่วมให้การรับรองและแสดงถ้อยแถลงในการร่วมขับเคลื่อนมติทั้ง 3 ระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ตลอดสองวันนี้ ภาคีเครือข่ายหน่วยงานทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมกันรับรองระเบียบวาระทั้ง 3 มติ ที่จะมีสถานะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่เสนอสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมยังได้แสดงถ้อยแถลงที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพฯ ในด้านที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่และภารกิจของแต่ละฝ่ายต่อไป

 

สำหรับมติที่ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีกรอบทิศทางนโยบายที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม มีความรู้เท่าทันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก มุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย

 

 

ในส่วนของหน่วยงานที่ร่วมให้ถ้อยแถลงต่อมตินี้ อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ยืนยันว่ามติสมัชชาสุขภาพฯ มีความสำคัญและสอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดย สศช. จะช่วยประสานการขับเคลื่อนได้ในหลายช่องทาง เช่น การกลั่นกรองผ่านแผนระดับ 3 การหนุนเสริมเครือข่ายด้วยกลไกของวุฒิอาสาธนาคารสมอง หรือ กระทรวงมหาดไทย ที่พร้อมจะผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน พัฒนาคนในพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ขณะที่ มติที่ 2 การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) มีกรอบทิศทางนโยบายที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชน มีการออกกำลังกาย เล่นกีฬา มีกิจกรรมทางกาย กิจกรรมทางจิตใจ การใช้เวลาว่างอย่างเหมาะสม โดยใช้แพลตฟอร์ม CCC เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น จูงใจด้วยการสะสมปริมาณแคลอรี่ที่ได้จากกิจกรรมต่างๆ และจัดเก็บเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับติดตามประเมินผล พร้อมนำมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

ในส่วนของหน่วยงานที่ร่วมให้ถ้อยแถลงต่อมตินี้ อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ขอร่วมเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพฯ ควบคู่กับการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.) ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก หรือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม CCC เพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอของประชาชน ที่จะส่งผลถึงการมีคุณภาพชีวิต สุขภาพที่ดี แล้วยังสามารถลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศลงได้

 

ด้าน มติที่ 3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มีกรอบทิศทางนโยบายเพื่อนำไปสู่การจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้ฯ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน 

 

ภายใต้ 5 เสาหลักที่มีความเชื่อมโยงและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันได้แก่ 

1. การพัฒนาผลิตภาพและรายได้ประชากร 

2. เงินอุดหนุนและบริการที่จำเป็นจากรัฐ 

3. การออมระยะยาว การบริหารจัดการเงิน 

4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ การบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care)

5. การร่วมกันดูแลของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น

 

ในส่วนของหน่วยงานที่ร่วมให้ถ้อยแถลงต่อมตินี้ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่แสดงความขอบคุณต่อสมัชชาสุขภาพฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการผลักดันประเด็นด้านการออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพ พร้อมมุ่งมั่นช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนมติดังกล่าว ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ยืนยันว่าระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ ถือเป็นหนึ่งในหลักประกันทางสังคมด้านการชราภาพที่ภาครัฐจะต้องจัดให้มีขึ้น หากแต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นผลสำเร็จได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้ระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทยมีการพัฒนาที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน

 

“ในทางหนึ่งมติเหล่านี้จะถูกเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้มีการกำหนดเป็นนโยบายต่อไปตามดุลพินิจ แต่ในอีกทางหนึ่งที่จะดำเนินควบคู่กันไปนับตั้งแต่วันนี้ คือกระบวนการในการทำให้มติสมัชชาฯ เหล่านี้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เชื่อมโยงกับสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ พร้อมการขับเคลื่อนที่จะเกิดขึ้นในทุกท้องถิ่น” นายชาญเชาวน์ กล่าว