ไฟเขียว ระบบดูแลผู้ป่วย SMI-V Care เพิ่มสิทธิดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน
คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ ไฟเขียว ระบบดูแลผู้ป่วย SMI-V Care ครอบคลุมการค้นหา-ส่งต่อ-ดูแลต่อเนื่อง แบบบูรณาการ และสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจิตวัยทำงาน
กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทย ตลอดจนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ป้องกันการเกิดพฤติกรรมรุนแรงในสังคม
ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยพบเจอกับวังวนแห่งความเครียดจนสะสมเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะวัยทำงานอย่างมนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่ชาวออฟฟิค อาจต้องเผชิญนั้น มีอะไรบ้างที่ชาวออฟฟิศวัยทำงานและเพื่อนร่วมออฟฟิศควรสังเกต
ทั้งนี้ 5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ชาวออฟฟิศควรระวัง มีดังนี้
1. เครียดสะสม
การใช้ชีวิตบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง 5-6 วันต่อสัปดาห์ มักเป็นสาเหตุของอาการเครียดสะสม หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว เรียกได้ว่ารู้ตัวอีกทีก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างไปแล้ว
2. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)
อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังมาแรงในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ คือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจอันมีที่มาจากความเครียดสะสม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลรุนแรงและคุกคามการดำเนินชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเผชิญกับ อาการทาง "สุขภาพจิต" หลังติดโควิด
"ปัญหาสุขภาพจิต"เด็กและวัยรุ่นไทย เรื่องใหญ่!
ธุรกิจกับการตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์
เปิด 5 รพ.กรมสุขภาพจิต รักษาผู้ป่วยจิตเวช-ครอบครัวติดโควิด-19
เช็กปัญหาสุขภาพจิตที่วัยทำงานต้องเฝ้าระวัง
3. ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self esteem)
ปัญหาสุขภาพจิตที่ชาวออฟฟิศหลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเศร้าใจ ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไปแล้วมากเสียจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง แบกรับปัญหาและกล่าวโทษว่ามีต้นเหตุมาจากตัวเองไม่ดีพอ ตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่ลบเสมอ เป็นภาวะเสี่ยงมากที่จะก้าวข้ามสู่โรคซึมเศร้า สัญญาณเตือนที่เห็นได้ชัดเจน
4. โรคซึมเศร้า (Depression)
เป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับโรคทางกายชนิดอื่นๆ จากสถิติพบว่าคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีปัญหาสุขภาพจิต ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่า 1.5 ล้านคน เพราะนอกจากปัจจัยเสี่ยงที่มาพร้อมความเครียดจากงานที่กองล้นโต๊ะ ความกดดันจากการทำงานที่สะสางได้ยาก สภาพสังคม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าด้วย เราสามารถสำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ ด้วยอาการเศร้าซึม หม่นหมอง หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข ซึ่งอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง หรือทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า เพื่อประเมินสุขภาพจิตของตัวเองเบื้องต้น
5. กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค (Panic Disorder)
เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่คอยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงมีความเครียดและความกดดันเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น มักแสดงอาการได้หลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อออกมาก หายใจหอบ อาเจียน วิงเวียนแบบฉับพลัน ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไปจนถึงการหวาดกลัวสิ่งรอบตัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่คุกคามชีวิตของคนวัยทำงานไม่มากก็น้อย
ระบบดูแลสุขภาพจิต พร้อมเพิ่มสิทธิสำหรับวัยทำงาน
วันนี้ (22 ธันวาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โดยการประชุมวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ แนวทางการดำเนินงานระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ซึ่งพบว่า ผู้ก่อความรุนแรงประมาณ 3% เท่านั้น ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวช โดยระบบนี้จะครอบคลุมการค้นหา การส่งต่อ และการดูแลต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อ
ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนแต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย จะถูกค้นหาด้วย 5 สัญญาณเตือนก่อนส่งต่อเข้ารับการวินิจฉัย และดูแลต่อเนื่องด้วยทีมจัดการรายกรณี เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ
ทั้งนี้ ได้ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้แทนเข้าร่วมทีมจัดการรายกรณีในทุกตำบล อีกทั้งเร่งพัฒนาระบบ EMS เฉพาะทางจิตเวชโดยเร็ว ตลอดจนมอบคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายสุขภาพจิตระดับจังหวัด กำกับติดตามการขับเคลื่อนระบบ SMI-V Care ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในสถานประกอบการ โดยประสานให้กระทรวงแรงงานแก้กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจ) เป็นสวัสดิการที่กฎหมายกำหนด
พร้อมทั้ง สนับสนุนให้สถานประกอบการใช้ระบบ Mental Health Check-In ในการประเมินสุขภาพจิตอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งระดับบุคคล องค์กร และส่งผลสืบเนื่องต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย