“ตีตราทางสังคม” ในไทย-เกาหลีใต้ ทำผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า-แพนิก” ไม่กล้าหาหมอ

“ตีตราทางสังคม” ในไทย-เกาหลีใต้ ทำผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า-แพนิก” ไม่กล้าหาหมอ

ผลวิจัยเผย สังคมเกาหลีใต้และไทย ยังคงมีการตีตราทางสังคม (Social Stigma) กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และแพนิก จนทำให้หลายคนขาดโอกาสในการรักษา อีกทั้งจำกัดสิทธิ์ของผู้ป่วย ทั้งการทำประกัน การทำงาน วอนสังคมเข้าใจสามารถใช้ชีวิตได้ปรกติ

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ระบุว่า 256 ราย คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีอายุระหว่าง 10-20 ปี จาก ปัญหาสุขภาพจิตในเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 5,258 ราย มีประวัติการรักษาสุขภาพจิต จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั้งหมด 13,205 รายในปี 2564

จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายในกลุ่มอายุ 10-29 ปี เพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปีที่แล้วยอดพุ่งสูงขึ้นเป็น 888 ราย ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำนวนคนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเภทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตัวเลขเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในหมู่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีในปี 2564

แม้ว่าข้อมูลโรคแพนิกและภาวะซึมเศร้าจะปรากฏในพื้นที่สื่อ ทั้งในรูปแบบของซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่ข่าวของเหล่าคนดังในวงการ K-POP ที่เปิดเผยว่าตนเองเป็นโรคกลุ่มนี้ จะช่วยทำให้ชาวเกาหลีใต้ตระหนักถึงอันตรายและความสำคัญกับโรคเหล่านี้มากขึ้น แต่ การตีตราทางสังคม (Social Stigma) ยังคงมีอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายพลาดโอกาสในการเข้ารับการรักษา

 

  • ผู้คนมีปัญหาทางจิตมากยิ่งขึ้น

ลี บยอง-ฮุน นักแสดงชายจากซีรีส์ชื่อดังอย่าง Mr. Sunshine และ Squid Game เพิ่งเปิดเผยว่า เขาเป็นโรคแพนิก จากการที่เขามีอาการตื่นตระหนกและหวาดกลัวระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังสหรัฐ และปัจจุบันยังคงรักษาอาการดังกล่าวอยู่

ขณะที่ คัง แดเนียล ศิลปิน K-POP ชื่อดัง หยุดรับงานทั้งหมดในช่วงที่เขาได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากโรคแพนิกและภาวะซึมเศร้า โดยเปิดเผยภายหลังว่า ในช่วงนั้น "เขาสูญเสียความตั้งใจที่จะมีชีวิตอยู่"

จำนวนของผู้ป่วยโรคแพนิกและมีภาวะซึมเศร้าในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของบริการประเมินและตรวจสอบประกันสุขภาพ พบว่า จำนวนผู้ที่รับการรักษาภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 35.1% จาก 691,164 คนในปี 2560 เป็น 933,481 คน ในปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนที่รับการรักษาจากโรคตื่นตระหนกสูงขึ้นจาก 653,694 คน เป็น 865,108 คน

อีกทั้งข้อมูลดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่าจำนวนคนอายุน้อยเกาหลีใต้ที่ป่วยในกลุ่มโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 90.2% ขณะที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 127.1% ส่วนกลุ่มที่มีอายุ 30-39 ปี เพิ่มขึ้น 67.3%

นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่รับการรักษาโรคแพนิกในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 86.7% ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี และเพิ่มขึ้น 78.5% ในกลุ่มวัยรุ่น

 

ปัญหาหนึ่งที่มาพร้อมกับกลุ่มอาการทางจิตเภท คือ ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีอาการอื่นร่วมด้วย และจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความทรมานเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จอน ฮง-จุน อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยคอนกุก ในปี 2563 พบว่า ผู้เป็นโรคแพนิกมีแนวโน้มที่จะเป็น โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่พบทั้ง 2 โรคพร้อมกันจะมีความทุกข์ทรมานมากขึ้น 

“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วย PDA (โรคตื่นตระหนกกับร่วมกับโรคกลัวที่ชุมชน) มีอาการตื่นตระหนกที่รุนแรงกว่า มีอาการทางจิตเวชร่วมกันที่ลึกซึ้งกว่าและมีอาการของโรคที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยโรคตื่นตระหนกอย่างเดียว” จอนระบุ

นอกจากนี้ จอนยังระบุอีกว่า ผู้ป่วย PDA มีแนวโน้มที่เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อย หรือเสพติดยาเบ็นโซไดอาเซพีน และต้องใช้ยากลุ่ม Antipsychotic สำหรับการบำบัดโรคทางจิตเภทเป็นเวลานานยิ่งขึ้น

 

  • “ตีตราทางสังคม” ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ารับการรักษา

แม้ว่าในสังคมจะตระหนักถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมากขึ้น แต่หลายคนยังลังเลที่จะขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวว่าการเข้ารับการรักษาจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกมองไม่ดี

ศาสตราจารย์ ปาร์ค จีอึน อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ทำการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้คนหลีกเลี่ยงเข้ารับการรักษาเมื่อมีกลุ่มอาการทางจิต ด้วยการวิเคราะห์ข้อความโซเชียลมีเดียจำนวน 6 ล้านข้อความที่แชร์ระหว่างปี 2559-2562 พบว่า 

วัยรุ่น 25.9% หลีกเลี่ยงการไปหาจิตแพทย์เพราะกลัวว่าจะส่งผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วน 14.4% กลัวว่าสังคมจะมองว่าเป็น “คนบ้า” ส่วนคนวัย 20 ปี 22.4% กังวลว่า นายจ้างอาจจะมองเห็นข้อมูลเวชระเบียน 

ขณะที่ 22.1% ผู้ที่มีอายุ 30-40 ปี มีความกังวลว่า ประวัติการรักษาจะทำให้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ได้ และอีก 14.8% ยังมีความกลัวว่าจะถูกคนอื่นหาว่าเป็นบ้า

สำหรับความกังวลเรื่องการซื้อกรมธรรม์นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลี ระบุว่า มีบริษัทประกันภัย 2 แห่ง อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้าซื้อโปรแกรมประกันของตนได้

ศาสตราจารย์ปาร์คชี้ให้เห็นถึงการขาดข้อมูลของสาธารณชนที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาโรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ประชาชนลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตควรเข้าหาสาธารณชนและพยายามให้ข้อมูลที่จำเป็นในการรักษา เพราะไม่มีเหตุผลเลยที่จะต้องปิดบังข้อมูลเหล่านี้”

จากข้อมูลของสมาคมประสาทวิทยาแห่งเกาหลี แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มคนทำงานจำนวนมากมีการรับรู้เชิงลบต่อการรักษาอาการป่วยทางจิต มีเพียง 31% ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้นที่สามารถหยุดงานหลายได้วันเพื่อการทำรักษา ในขณะที่ 34% ไม่บอกนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานถึงอาการป่วยของตน

นอกจากนี้ ผู้ทำการวิจัยยังทำการสอบถามแรงงานชาวเกาหลีที่มีอายุตั้งแต่ 16-64 ปี จำนวน 1,000 คน ว่าพวกเขาจะทำอย่างไร หากรู้ว่าเพื่อนร่วมงานเป็นโรคซึมเศร้า โดยคำตอบส่วนมากกว่า 30.2% ระบุว่า จะหลีกเลี่ยงการสนทนาดังกล่าว เพราะอาการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับทั้งสองฝ่าย 

อีกทั้งผลวิจัยยังระบุว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษานั้นจะมีประสิทธิภาพในการทำงานแย่กว่า ผู้ป่วยที่หยุดงานเพื่อไปรับการรักษาสุขภาพจิต ซึ่งนักวิจัยได้เสนอให้มีการตรวจหาภาวะซึมเศร้าตั้งแต่ระยะแรก ควบคู่ไปกับระบบการขอความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

 

  • สถานการณ์ผู้ป่วยซึมเศร้าในไทย

ในประเทศไทย ตัวเลขประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน และมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ที่ 88.33% ของผู้ป่วยทั้งหมด

ขณะที่ พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชรวมถึงโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์ทั่วโลกที่เป็นผลมาจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19  โดยกระทรวงสาธารณสุขมุ่งคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติมในโรงพยาบาลทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังประสานงานกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เพื่อผลักดันยาจิตเวชที่จำเป็นเข้าสู่บัญชียาหลักเพิ่มเติมด้วย

Rocket Media Lab แหล่งข้อมูลสาธารณะที่ติดตามประเด็นสังคม ได้ทำแบบสอบถามออนไลน์สำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งมีรายได้มากกว่า 15,000 บาท จำนวน 68.2% เลือกชำระค่ารักษาเองทั้งหมด เพราะต้องการรักษาในโรงพยาบาลที่สะดวก ลดความวุ่นวายในการเดินทางและไม่ต้องรอนาน แทนที่จะใช้สิทธิรักษาฟรีซึ่งส่วนมากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ

ในด้านเรื่องค่ารักษาพยาบาลพบว่า ผู้ป่วย 43.7% มีค่ารักษาพยาบาลน้อยกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนผู้ที่มีค่ารักษาพยาบาลคิดเป็น 10-20% ของรายได้ มีร้อยละ 26.7% ส่วนอีก 29.6% ตอบว่า ค่ารักษามากกว่า 21% ของรายได้ขึ้นไป

สำหรับ สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านใดบ้าง ผู้ตอบแบบสอบถาม 41.1% ต้องการให้ค่ารักษาพยาบาลถูกลง โดยเฉพาะค่ายาส่วนใหญ่ที่อยู่นอกบัญชีซึ่งทำให้ยามีราคาสูง

รองลงมาคือ ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีระบบลาป่วยโดยคำนึงถึง​​การพบจิตแพทย์​ อีกทั้งให้ความสำคัญ​กับสุขภาพจิตของพนักงาน และสร้างความเข้าใจเพื่อลดการตีตราต่อผู้ป่วย คิดเป็น 27.3% 

ส่วนอันดับที่ 3 คิดเป็น 27.1% สามารถทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลได้ เนื่องจากบริษัทปฏิเสธผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า อีกทั้งยังไม่ยอมให้ผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าทำประกันสุขภาพด้วย ทั้งที่หายมาแล้วหลายปี

จะเห็นว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคแพนิกทั้งในไทยและเกาหลีใต้นั้นยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่คล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะความอคติและการตีตราทางสังคมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชที่มองว่าเป็นคนวิกลจริต ไม่ปกติ และน่ากลัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคแพนิกสามารถรักษาและใช้ชีวิตได้ตามปรกติไม่ต่างจากคนทั่วไป


ที่มา: Kbizoom, Korea Herald, Prachachat, Thai Depression