“วัยทำงาน” ต้องเช็ก! เสี่ยงเป็น “ซึมเศร้าจากการทำงาน” หรือไม่ ?
ใครที่งานเยอะจนปวดหัว แถมยังเจอแต่เรื่องเครียดจากการทำงาน ต้องระวังภาวะ “ซึมเศร้าจากการทำงาน” นอกจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ที่ประสบภาวะ “ซึมเศร้า” มากขึ้น โดยล่าสุดรายงานจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 65 ระบุว่า คนไทยประสบภาวะซึมเศร้าอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านคน และเกิดขึ้นกับ “วัยทำงาน” เป็นส่วนใหญ่ โดยสาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบด้านการทำงานโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหนักหรือมีปัญหาจากการทำงานทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลสะสมโดยไม่รู้ตัว และนำมาสู่อาการ “ซึมเศร้าจากการทำงาน” ในที่สุด
ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เนื่องจากไม่ได้ส่งผลเสียแค่กับสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานก็จะส่งผลเสียต่อสุขกายด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม “ภาวะซึมเศร้า” ยังไม่ถือว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” หากปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ทันเวลา
ส่วน “โรคซึมเศร้า” หรือ Major Depression นั้น เป็นโรคทางจิตเวชเกิดจากความเครียดจากการเผชิญปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม การทำงาน รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามฆ่าตัวตายถึง 53,000 คนต่อปี โดยผู้ป่วยบางรายนั้นเริ่มจากการมีภาวะซึมเศร้ามาก่อน แต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ดังนั้น การป้องกันความรุนแรงของอาการซึมเศร้าตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน
- “วัยทำงาน” ต้องเช็กตัวเองมีอาการซึมเศร้าจากการทำงานหรือไม่?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ภาวะซึมเศร้ามักเกิดขึ้นกับคน “วัยทำงาน” เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ชาวออฟฟิศต้องหมั่นเช็กตัวเองสักนิดว่า สภาพจิตใจและร่างกายมีอาการผิดปกติใดๆ ที่เข้าข่ายหรือไม่? ลองเช็กลิสต์ตามนี้..
1. มีความวิตกกังวล คิดเรื่องงานตลอดเวลา
ได้ยินเสียงโทรศัพท์หรือไลน์เข้าก็ระแวงว่าจะเป็นเรื่องงาน วิตกกังวลเรื่องงานตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน หรือแม้แต่ในความฝันก็ยังคงเป็นเรื่องงาน
2. เบื่องาน ไม่มีความพอใจในงานที่ทำอยู่
อาการทางอารมณ์นี้อาจเรียกว่า ความรู้สึกหมดไฟในการทำงาน เช่น เบื่องาน ไม่อยากมาทำงาน หาเรื่องหยุดงาน หลีกเลี่ยงการรับงานอย่างตั้งใจ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome, Boreout Syndrome และ Brownout Syndrome
3. เศร้า สิ้นหวัง
การมาทำงานทำให้มีความรู้สึกเป็นทุกข์ เศร้า สิ้นหวัง ท้อแท้ เหมือนจะมองไม่เห็นอนาคตในการทำงานของตัวเอง หรือมองไม่เห็นประโยชน์ในงานที่ทำ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไร้ค่าไม่มีความหมาย
4. หมดพลัง
ตื่นเช้ามาในวันทำงานแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ไม่มีแรง ไม่อยากตื่นไปทำงาน แต่ก็ต้องฝืนไป ตั้งแต่ข้อนี้เป็นต้นไป จะเริ่มส่งสัญญาณอันตรายเพราะอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า
5. ขาดสมาธิ
ทำงานอย่างใจลอย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ให้ความสนใจกับงานได้ไม่เต็มที่ จำรายละเอียดงานไม่ได้ จำงานที่หัวหน้าสั่งไม่ได้
6. งานผิดพลาดบ่อยขึ้น
ต้องแก้งานในส่วนที่ไม่ควรผิดพลาดบ่อยขึ้น รายละเอียดงานที่สำคัญหายไป ข้ามขั้นตอนการทำงานหรือทำงานไม่ครบขั้นตอน
7. ขาด ลา มาสาย หายบ่อย แบบตั้งใจ
ลาบ่อยจัง ขาดงานแบบตั้งใจบ่อย สายติดกันหลายครั้ง หรือแม้แต่ไลน์กลุ่มก็ไม่อยากอ่าน และไม่อยากเฉียดเข้าไปที่ทำงาน
8. หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์
หากคนในที่ทำงานมาบอกตรงๆ ว่า คุณขี้เหวี่ยง ขี้วีน อารมณ์ร้อน ไม่มีเหตุผล หรือคนในที่ทำงานเริ่มไม่อยากคุย หรือทำงานด้วย ต้องรีบสังเกตตัวเองว่ามีปัญหากับหารควบคุมอารมณ์ตัวเองจริงหรือไม่
9. การนอนมีปัญหา
นอนมากเกินไป นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย ละเมอ
10. มีปัญหาการรับประทานอาหาร
ทานมากเกินไป ทานไม่เป็นเวลา ทานตลอดเวลา ใช้เวลาในการทานนานผิดปกติ หรือทานน้อยเกินไป ไม่มีความสุขกับการทานอาหาร
- ภาวะซึมเศร้า VS โรคซึมเศร้า ต่างกัน ต้องแยกให้ออก!
หาก “วัยทำงาน” คนไหนมีอาการดังกล่าวข้างต้นมากกว่า 3 ข้อ ขึ้นไป ถือว่าเริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแบบทันท่วงทีก็จะส่งผลให้กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” โดยจะมีอาการที่แสดงออกชัดเจนมากกว่าภาวะซึมเศร้า ดังนี้
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน มีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์แย่ลง
2. ขาดความสนใจ เบื่อ ไม่อยากทำอะไร และปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้าง
3. เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากผิดปกติอย่างรวดเร็ว ทานอะไรไม่ลง ไม่อยากอาหาร หรือทานมากกว่าเดิม
4. นอนไม่หลับ หรือนอนเยอะกว่าปกติ คิดมากหรือร้องไห้จนนอนไม่ได้ หรือนอนหลับข้ามวัน
5. เคลื่อนไหวหรือพูดช้ากว่าปกติ อ่อนเพลียและเหนื่อยตลอดเวลา ไม่มีแรง นอนนานแต่ไม่สดชื่น เพลียตลอดเวลา
6. มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิด มักโทษตัวเอง
7. ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง และขาดการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แม้เป็นเรื่องง่าย
8. ในผู้หญิงรอบเดือนผิดปกติ มีความสนใจเรื่องเพศลดลงหรือมากขึ้น รอบเดือนอาจมาไม่ตรงตามที่เคยมา มาน้อยหรือเยอะผิดปกติ
9. เจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ หาสาเหตุของอาการป่วยไม่ได้
10. มีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองโดยตั้งใจหรือวางแผนไว้แล้ว
- รีบเยียวยาภาวะ “ซึมเศร้า” ด้วยตัวเอง ก่อนสายเกินแก้
สำหรับผู้ที่ยังถือว่าอยู่ในภาวะ “ซึมเศร้าจากการทำงาน” นั้น หากต้องการดูแลสภาพจิตใจตนเองในเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
2. นอนอย่างมีวินัย หลับและตื่นให้เป็นเวลา ในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. รักษาเวลาชีวิตให้เหมาะสม มีตารางเวลา มีแบบแผนในการใช้ชีวิต
4. กำหนดเป้าหมายชีวิต ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
5. หากิจกรรมใหม่ๆ ทำ เพิ่มความสดใสในชีวิต
6. พยายามอยู่กับคนที่เรารักและรักเรา เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตและสร้างแรงจูงใจในการใช้ชีวิต
7. ยอมรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และพยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
แต่ถ้าใครรู้สึกว่าต้องการที่ปรึกษาและคำแนะนำที่ดีเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานรวมถึงเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากภาวะ “ซึมเศร้าจากการทำงาน” ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์และเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง