ผลสำรวจเผย ผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” จ่ายค่ารักษาแพง 21% ของรายได้
1 ใน 3 ของผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” ในไทย ยอมจ่ายค่ารักษาด้วยตัวเอง โดยจ่ายสูงถึงร้อยละ 21 ของรายได้ แม้รู้ดีว่าโรคทางจิตเวชสามารถรักษาฟรี ภายใต้สิทธิประกันสังคมและบัตรทอง
เป็นเรื่องน่าแปลกใจเมื่อผลสำรวจของ Rocket Media Lab ระหว่างเดือน ก.ค. - ก.ย. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 506 คน ค้นพบว่า มีผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” ในไทยถึง 1 ใน 3 ที่ยอมเสียค่ารักษาพยาบาลเอง โดยยอมจ่ายค่ารักษาอย่างน้อย 21% ของเงินเดือน แม้ว่าโดยปกติแล้วผู้ป่วยทางจิตเวช สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี ภายใต้ความคุ้มครอง ตามสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งบัตรทอง บัตรประกันสังคม และบัตรข้าราชการ
แต่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลถึงความไม่สะดวกในการขอใบส่งตัวจากคลินิกต้นสังกัดเพื่อรักษาในโรงพยาบาลที่สะดวก
อีกหนึ่งเหตุผลที่พวกเขาเลือกที่จะจ่ายค่ารักษาเอง คือ เนื่องจากเดินทางเพียงจุดเดียว วันเดียวจบ ลดความวุ่นวาย แทนที่จะใช้สิทธิรักษาฟรีแล้วต้องไปหลายที่หรือต้องรอนานๆ ทั้งนี้ สัดส่วนของสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยเข้ารับการรักษานั้น มีสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดรัฐ ร้อยละ 50.69 สังกัดเอกชนร้อยละ 48.51
Rocket Media Lab สำรวจพบอีกว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ามาตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท โดยมีการเลือกชำระเงินค่ารักษา ดังนี้
อันดับที่ 1 เลือกชำระค่ารักษาเองทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 68.2
อันดับที่ 2 ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ร้อยละ 11.9
อันดับที่ 3 ใช้สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 8.7
อันดับที่ 4 ใช้ประกันสุขภาพ/สวัสดิการของที่ทำงาน ร้อยละ 5.7
อันดับที่ 5 ใช้สิทธิข้าราชการร้อยละ 5.3
อันดับที่ 6 ใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ร้อยละ 0.2
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เลือกจ่ายค่ารักษาเองนั้น นอกจากเหตุผลเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง และลดความวุ่นวายแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก โดยเรียงตามอันดับมากสุดไปน้อยสุด ดังนี้
อันดับ 1 พอใจจิตแพทย์คนปัจจุบัน ร้อยละ 83.7
อันดับ 2 เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาของจิตแพทย์คนปัจจุบัน ร้อยละ 33.9
อันดับ 3 ได้รับคำแนะนำจากบุคคลอื่น ร้อยละ 25.2
ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น พบว่ามีทั้งกรณีได้รับค่ารักษาครอบคลุมทั้งหมด และได้เพียงบางส่วน แบ่งเป็น ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ร้อยละ 51.6 และ ครอบคลุมบางส่วน ร้อยละ 48.4
ขณะที่ เหตุผลที่เข้ารับบริการของผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายนั้น เป็นเพราะเลือกเพราะตามสิทธิเบิกจ่ายมากที่สุด ร้อยละ 67.3 และ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายร้อยละ 11.54
ในส่วนของวงเงินค่ารักษาในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าที่ยอมจ่ายเองนั้น ผลสำรวจค้นพบว่ามีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่ระบุวงเงินค่ารักษาคิดเป็นร้อยละ 21 ของรายได้พวกเขา และยังมีกลุ่มรายได้ระดับอื่นๆ อีก ดังนี้
ผู้ป่วย 13.8% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นร้อยละ 21-30 ของรายได้
ผู้ป่วย 5.1% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นร้อยละ 31-40 ของรายได้
ผู้ป่วย 2.6% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นร้อยละ 41-50 ของรายได้
ผู้ป่วย 1.4% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นร้อยละ 51-60 ของรายได้
ผู้ป่วย 1.2% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นร้อยละ 61-70 ของรายได้
ผู้ป่วย 5.5% ยอมจ่ายค่ารักษาเองคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของรายได้
นอกจากนี้ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ 43.7 และผู้ที่มีค่าใช้จ่ายร้อยละ 10-20 ของรายได้ ร้อยละ 26.7
รวมถึงผู้ป่วยบางส่วนก็มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนใช้สิทธิเบิกจ่ายต่อครั้งอีกด้วย โดยราคาค่ารักษาก็ มีความหลากหลาย ตั้งแต่ “ได้รับบริการฟรี” ไปจนถึงจ่ายค่าบริการมากสุดที่ 35,000 บาท โดยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 1,800 บาท
ส่วนค่ารักษาต่อครั้งโดยเฉลี่ยนั้น สำรวจพบว่า
- ผู้ป่วย 16.8% เสียค่ารักษาต่อครั้ง 200 บาทหรือน้อยกว่า
- ผู้ป่วย 9.5% เสียค่ารักษาต่อครั้ง 1,401-1,600 บาท
- ผู้ป่วย 7.3% เสียค่ารักษาต่อครั้ง 1,801-2,000 บาท
- ผู้ป่วย 6.7% เสียค่ารักษาต่อครั้ง 2,801-3,000 บาท
- ผู้ป่วย 5.7% เสียค่ารักษาต่อครั้ง 801-1,000 บาท
- ผู้ป่วย 52% เสียค่ารักษาต่อครั้งตั้งแต่ 1,501 บาทขึ้นไป
โดยสรุปแล้วแม้ว่าการรักษาโรคทางจิตเวชจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านประกันสังคม บัตรข้าราชการ และ บัตรทอง เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยอมเสียเงินกับสถานพยาบาลโดยตรงในราคาที่สูงหรือปานกลางแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และความสบายใจในการเลือกแพทย์ที่เหมาะกับตนเอง
-------------------------------------
อ้างอิง : Rocket Media Lab