Political Correctness คืออะไร? ถ้าสังคม “เรียกร้องสิทธิ” จนกระทบ “สุขภาพจิต”
แม้ Political Correctness (PC) จะมีข้อดีคือทำให้ผู้คนระวังคำพูดที่ใช้กับผู้อื่น แต่ในเมื่อสังคมมีแต่การเรียกร้องสิทธิ (Woke) พูดอะไรไปก็อาจผิดได้เสมอ แล้วเราควรเสพสื่อโซเชียลอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพจิต?
ปัจจุบันสังคมมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “Woke” หรือ “การเรียกร้องสิทธิ” มากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เราระมัดระวังทั้งพฤติกรรมและคำพูดในการปฏิบัติต่อผู้อื่น แต่ทางกลับกันหากต้องคอยระวังตลอดเวลาจนไม่กล้าพูดอะไรก็อาจส่งผลเสียต่อ สุขภาพจิต ได้ ซึ่งเรียกคนที่มีภาวะเหล่านี้ว่า มีความ PC หรือ Political Correctness สูง
สำหรับความหมายของคำศัพท์ “Woke” ในช่วงแรกหมายถึง การตื่นตัวทางการเมือง หรือ ตาสว่าง มักใช้ในการประท้วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี ต่อต้านการเหยียดสีผิว หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมในบริบทและสถานการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชน แต่บางครั้งก็ใช้สำหรับประชดประชันอีกด้วย
ส่วนคำว่า “Political Correctness” หรือเรียกว่า PC ความหมายที่แท้จริงคือ ความถูกต้องทางการเมือง มาจากแนวคิดทางการเมืองหมายถึงการใช้ภาษาเพื่อลดความรุนแรงหรือทำร้ายจิตใจของผู้รับสารให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์หรือเพศวิถี ซึ่ง PC กลายเป็นประเด็นในการถกเถียงของสังคมวงกว้างในปัจจุบัน
- หาก PC มากเกินไป ก็เหนื่อยใจได้เช่นกัน
นอกจากการถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียที่จำเป็นต้องมีความ PC เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สนทนา ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหายุ่งเหยิงตามมา เช่น การแขวน คือ การถูกนำบัญชีไปแชร์ต่อเพื่อให้คนที่ไม่เห็นด้วยเข้ามารุมวิพากษ์วิจารณ์บุคคลคนนั้นด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือ การโดนทัวร์ลง ซึ่งแน่นอนว่าต้องสร้างความไม่สบายใจให้เหยื่อได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังต้องคอยระมัดระวังในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวในชีวิตจริงอีกด้วย เพราะจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการที่เราพูดอะไรบางอย่างออกไปแม้เราจะไม่ได้คิดร้าย แต่อีกฝ่ายอาจรู้สึกแย่และมีปัญหาขัดแย้งกันตามมาในอนาคต ทำให้บางคนกลายเป็นคนประเภท Over PC หรือมีความระมัดระวังเกินพอดี จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตโดยรวม เช่น ไม่กล้าพูดคุยกับใครแม้แต่กลุ่มเพื่อน วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา เสียความมั่นใจในตัวเอง เกิดความเครียด เป็นต้น
- ปรับสมดุลอย่างไรให้คำพูดไม่กระทบจิตใจใคร และไม่ลำบากใจเรา
แท้จริงแล้วเราไม่สามารถบังคับความรู้สึกใครได้ โดยเฉพาะคู่สนทนาของเรา ดังนั้นหากเป็นไปได้เราควรพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่เราไม่จำเป็นต้อง PC ตลอดเวลา เช่น การใช้เวลากับคนพิเศษเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การอยู่กับกลุ่มเพื่อนสนิทที่สามารถแซวกันแบบหยาบคายได้โดยไม่ต้องคิดมาก หรือแม้แต่การใช้เวลาพูดคุยเรื่องไร้สาระกับสมาชิกในครอบครัว ก็สามารถช่วยปลดล็อกความตึงเครียดจากการที่ต้อง PC มาตลอดทั้งวันได้ รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ผ่อนคลายความรู้สึกของตัวเองด้วย
แต่ในส่วนของสังคมภายนอกนั้นอาจจะยังเป็นเรื่องยากในปัจจุบันที่จะหาตรงกลางว่าเรื่องไหนคือ PC เรื่องไหนคือการคุยกันสนุกๆ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากผู้พูดฝ่ายเดียวแต่ผู้ฟังก็สำคัญ ดังนั้นปัญหาที่แก้ไขได้เบื้องต้นคือต้องรู้ก่อนว่าคู่สนทนาของเรานั้นมีความละเอียดอ่อนหรือเปราะบางกับประเด็นใดเป็นพิเศษหรือไม่ รวมถึงในชีวิตประจำวันทั่วไปอาจใช้คำพูดที่เป็นภาษากลางๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหยียดหรืออคติ
เรื่องของ PC ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม เพราะเป็นภาวะที่หลายคนเริ่มรู้จักมานานหลายปี แต่เพราะกระแสความ Woke ในปัจจุบัน ทำให้เราต้องเช็กตัวเองว่า นอกจากการแคร์ความรู้สึกของคนอื่นแล้ว เราแคร์ความรู้สึกของตัวเองมากพอหรือยัง
อ้างอิงข้อมูล : MTSU, Psy Post, Mirror TH และ สถาบันพระปกเกล้า