แกะดราม่า "Little Mermaid" ผิวสี "ดิสนีย์" คัดนักแสดงตามฝีมือ หรือตามกระแส ?

แกะดราม่า "Little Mermaid" ผิวสี "ดิสนีย์" คัดนักแสดงตามฝีมือ หรือตามกระแส ?

ส่องแนวคิด “Colorblind-Casting” เลือกนักแสดงที่ความสามารถโดยไม่สนเชื้อชาติที่ “ดิสนีย์” นำมาใช้คัดเลือกนักแสดงในปัจจุบัน รวมถึง “Little Mermaid” ที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่าดิสนีย์ตื่นรู้จริง หรือแค่ตามกระแส ?

ทันทีที่ตัวอย่างของ “The Little Mermaid” ฉบับคนแสดงที่จะเข้าฉากในปีหน้า ได้ปล่อยตัวอย่างแรกออกมาในงาน D23 Expo งานประกาศไลน์อัพภาพยนตร์และซีรีส์ในเครือ “ดิสนีย์” เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) ก็กลายเป็นกระแสร้อนแรงในอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยเสียงของชาวเน็ตแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

ฝ่ายหนึ่งชื่นชมและทึ่งในพลังเสียงร้องของ “ฮัลลี เบลีย์” นักร้องผิวสี ผู้มารับบท “แอเรียล” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งในตัวอย่างมีฉากที่เบลีย์ร้องเพลง “Part of the World” เพลงเอกของเรื่อง โดยเฉพาะเด็กหญิงผิวสีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนางเงือก

แน่นอนว่ามีคนชอบแล้ว ก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบ ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ยังคงมาจากภาพลักษณ์ของนักแสดงที่ไม่ตรงกับ “ภาพจำ” ของผู้คนส่วนใหญ่ต่อนางเงือกน้อยที่เป็น “สาวน้อยผิวขาว ผมแดง” ตามภาพลักษณ์ของแอเรียลที่ดิสนีย์สร้างขึ้นมาในแอนิเมชัน “The Little Mermaid” (2532) และได้กลายเป็นหนึ่งในตัวละครเจ้าหญิงดิสนีย์ที่คนทั่วโลกหลงรักมาตลอดหลายสิบปี

ยิ่งก่อนหน้านี้ ผู้กำกับระบุว่า นางเงือกน้อยฉบับคนแสดงเป็นการรีเมกมาจากการ์ตูนที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ยิ่งตอกย้ำการทำลายภาพจำของคนดูบางส่วน ทำให้มีคนไปกดไม่ชอบ (Dislike) วิดีโอทีเซอร์ภาพยนตร์ ในช่องอย่างเป็นทางการของดิสนีย์แล้วกว่า 1 ล้านครั้ง (ณ เวลา 17.00 น. วันที่ 12 ก.ย.65) มากกว่าจำนวนกดชอบ (Like) หลายเท่าตัว รวมถึง #NotMyAriel กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

แกะดราม่า \"Little Mermaid\" ผิวสี \"ดิสนีย์\" คัดนักแสดงตามฝีมือ หรือตามกระแส ?

Color-blind Casting การคัดเลือกนักแสดงโดยไม่สนใจเชื้อชาติ-สีผิว

ก่อนหน้านี้ วงการฮอลลีวูดมักจะเลือกใช้นักแสดงผิวขาวมารับบทที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งนอกจากจะไม่ตรงกับบทและภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปเคยเข้าใจแล้ว ยังเป็นการกีดกันนักแสดงเชื้อชาติอื่น ๆ ที่มีความสามารถและตรงกับบทได้แสดงความสามารถทางการแสดง ขณะเดียวกัน ยังตีความได้ว่าวงการฮอลลีวูดส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ก็ย่อมต้องเลือกนักแสดงเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์เดียวกันมาแสดง จนเกิดคำว่า “Whitewashing” ขึ้น

เมื่อเข้าสู่ในยุคผู้คนตระหนักถึงความเท่าเทียม และไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ แนวคิดการคัดเลือกนักแสดงโดยไม่สนถึงรูปลักษณ์ หรือภาพจำของตัวละคร มองกันด้วยความสามารถของนักแสดงเป็นหลัก หรือ “Color-blind Casting” ถูกนำมาใช้มากขึ้น แม้ว่าจะมีการใช้แนวคิดนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ที่ เอิร์ทธา คิตต์ นักร้อง นักแสดง แอฟริกัน-อเมริกัน ได้รับบท “แคทวูแมน” ในซีรีส์ “แบทแมน” แทน “จูลี นิวมาร์” นักแสดงผิวขาว แล้วก็ตาม

หลังจากที่มีกระแส “Black Lives Matter” เรียกร้องการปฏิบัติที่เท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับคนผิวสี โดยเฉพาะหลังจากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ในปี 2563 เป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงในสหรัฐมีการปรับตัว หันมาใช้ Colorblind-Casting ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากขึ้น ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงแต่คนขาวอีกต่อไป เช่น ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แห่งปี 2564 อย่าง “Dune” มี “เซ็นดายา โคลแมน” รับบทชานี ที่ในเวอร์ชันก่อนเป็นบทของคนขาวเล่น หรือ ใน แบทแมน เวอร์ชันใหม่ที่จะเข้าฉายในปีนี้ ก็มีนักแสดงผิวสีรับบทเด่น ที่มีภาพจำเป็นคนผิวขาว ไม่ว่าจะเป็น “เจฟฟรีย์ ไรท์” รับบท “เจมส์ กอร์ดอน” ตำรวจในเมืองก็อธแธม และ โซอี้ คราวิทซ์ รับบท “แคทวูแมน

ในระยะหลัง ดิสนีย์เองก็หันมาใช้รูปแบบการคัดเลือกนักแสดงแบบนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ได้มีเพียงแต่ใน The Little Mermaid เท่านั้น ยังมี “Snow White” ที่เตรียมเข้าฉายในปี 2567 ได้ “เรเชล เซกเลอร์” นักแสดงชาวละตินมารับบทสโนไวท์ กำกับโดย “มาร์ก เว็บบ์” ซึ่งจะไม่มีคนแคระทั้ง 7 รวมไปถึง Pinocchio (2565) ที่ “ซินเธีย เอริโว” นักแสดงผิวสีมารับบท “นางฟ้าแม่ทูนหัว” อีกทั้งยังมี “ยารา ชาฮิดี” นักแสดงและนางแบบผิวสี รับบท “ทิงเกอร์เบล” ทูตตัวจิ๋วใน “Peter Pan and Wendy” (2566) 

รวมไปถึงนักแสดงหน้าใหม่อย่าง “ลีอา เจฟฟรีส์” มารับบท แอนนาเบธ แชส บุตรสาวของเทพอาธีนา ในซีรีส์ใหม่ที่สร้างจากวรรณกรรมเยาวชนสุดฮิต “Percy Jackson and the Olympians” เตรียมเข้าฉายในปี 2567 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่แฟนหนังสือและแฟนหนังเวอร์ชันเก่าบางส่วนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ตรงตามบทประพันธ์ที่ได้บรรยายไว้ว่า ดวงตาสีเทาพายุ ผมสีบลอนด์หยิกลอน ผิวสีแทน หุ่นนักกีฬา (ซึ่งเวอร์ชันภาพยนตร์ก็ไม่ตรงเช่นกัน) 

ร้อนถึงผู้แต่งและผู้มีส่วนร่วมในการสร้างซีรีส์เรื่องนี้อย่าง ริค ไรออร์แดน ต้องออกโรงชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า การแคสติ้งนักแสดงครั้งนี้ไม่ได้จำกัดสีผิว เชื้อชาติ อายุ เพศ เชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางเพศ ขอเพียงเข้าถึงบทบาท ซึ่งเจฟฟรีส์ก็ทำได้ดีและมีพลังเหลือล้น พร้อมกล่าวอีกว่า “ใครที่มีปัญหากับเธอ ก็เท่ากับมีปัญหากับผมเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม เบลีย์ ผู้รับบทแอเรียล และ เซกเลอร์ ผู้รับบทสโนไวท์ ได้กล่าวในงาน D23 Expo ว่า ภาพยนตร์ของพวกเธอนั้นถูกปรับให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การตามหารักแท้เหมือนในเวอร์ชันเดิม

“ในครั้งนี้ แอเรียลจะทำในสิ่งที่เธอต้องการจริง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการหนีตามผู้ชายไป แต่เป็นการผจญภัยในโลกกว้าง ฉันหวังว่าทุกคนจะรักหนังเรื่องนี้” เบลีย์กล่าวถึง The Little Mermaid ในเวอร์ชันของเธอ

ขณะที่เซกเกอร์ระบุว่า สโนไวท์ในเวอร์ชันนี้ เธอต้องต่อกรกับราชินีใจร้าย “สโนไวท์จะยืนหยัดต่อสู้กับราชินีใจร้าย และหาทางปกครองอาณาจักรด้วยตนเอง ตลอดการเดินทางเธอจะได้เจอทั้งความรักและมิตรภาพ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเธอจะได้รู้ว่าเธอเป็นใคร

 

ดิสนีย์ตาสว่างจริง หรือ การตลาด?

ในช่วงที่ Black Lives Matter กำลังมาแรง มีคำศัพท์หนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยคือ “Woke” ซึ่งแปลว่า การตื่นตัวทางการเมือง หรือ ตาสว่าง ซึ่งในตอนแรกถูกในการประท้วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี ต่อต้านการเหยียดสีผิว แต่ภายหลัง Woke ถูกนำไปใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น และใช้ในประเด็นที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงประเด็นต่อต้านความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

พอถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นว่า Woke ถูกชาวเน็ต (บางส่วน) นำมาใช้ในลักษณะ การแซะ การประชดประชันเสียมากกว่า ในทำนองว่า “แหม่ ตื่นตัวเสียเหลือเกินนะ” ซึ่งในไทยอาจเปรียบได้กับเฟมทวิตที่กลายเป็นคำแซะ (ซึ่งต่างจากเฟมมินิสต์)

ขณะเดียวกัน เมื่อ Woke กลายเป็นเทรนด์ แบรนด์ต่าง ๆ โอบรับเอาคำนี้มาใช้ทำการตลาดและการโฆษณา เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้และตื่นตัวกับความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายแบรนด์ก็ทำออกมาได้อย่างเนียนจน เชื่อว่าตื่นรู้จริง แต่บางแบรนด์ก็ไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นจนพังไม่เป็นท่า อย่างเช่น โฆษณาของ “เป๊ปซี่” ที่ได้เคนดัลล์ เจนเนอร์ มาแสดงนำ โดยในโฆษณาเล่าถึงขบวนการประท้วงเพื่อเรียกร้องสันติภาพและความเท่าเทียมของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม และปิดท้ายด้วยเจนเนอร์ยื่นเป๊ปซี่ให้กับตำรวจ ซึ่งโฆษณาถูกวิจารณ์อย่างหนักจนเป๊ปซี่ต้องออกมาขอโทษและถอดโฆษณาตัวนี้ไปในที่สุด เพราะผู้ชมมองว่าเป็นการนำเรื่องจริงจัง มาใช้ขายของ

 

เช่นเดียวกับ ดิสนีย์ ที่ระยะหลังได้สร้างภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายสัญชาติ หลากหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น “COCO” (2560) เล่าเรื่องเทศกาลแห่งความตาย (Día de los Muertos) ของเม็กซิโก, “Soul” (2563) มีตัวละครหลักเป็นคนผิวสี, “Raya and the Last Dragon” (2564) เจ้าหญิงดิสนีย์คนล่าสุดที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, “Luca” (2564) มีฉากหลังเป็นประเทศอิตาลี “Encanto” (2564) เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศโคลอมเบีย และประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และรางวัล และ “Turning Red” (2565) ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอเชียได้อย่างดี

รวมไปถึงในจักรวาลมาร์เวล ที่มีซูเปอร์ฮีโร่หลากหลายสัญชาติ เช่น ชางชี จาก “Shang-Chi and The Legend of The Ten Rings” (2564) เป็นชาวเอเชีย หรือ “Ms. Marvel” ที่เป็นฮีโร่ชาวมุสลิมคนแรก ตลอดจนการเพิ่มตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ เช่น “Onward” (2563) “Eternals” (2564) และ “Lightyear” (2565) จนถูกแบนในหลายประเทศ 

การใช้ Colorblind-Casting จนได้นักแสดงผิวสีมารับบทนำภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ดิสนีย์ต้องการบอกคนทั้งโลกว่า ยอมรับในความแตกต่างและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงฝีมือจริง ๆ หรือแค่ Woke แบบฉาบฉวยและยัดเยียดนักแสดงหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศเข้ามาเพื่อเรียกกระแสเท่านั้น ?

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชมคือผู้ตัดสินเองว่ามีมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ตนเองอยากจะดู รายได้และคะแนนจะเป็นตัวบอกเองว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์นั้น ๆ ดีหรือไม่ แต่ทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบูลลี่หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะว่าเขาไม่ได้มีรูปลักษณ์ตรงตามที่คาดหวังไว้


ที่มา: CosmicbookNewsweekThe CrimsonThe GuardianThe MatterVarietyYahoo