10 หนังดัง "ถูกแบน" เพราะฉาก "LGBTQIA+"

10 หนังดัง "ถูกแบน" เพราะฉาก "LGBTQIA+"

รวม 10 ภาพยนตร์ที่ถูกห้ามเข้าฉาย หรือ จำเป็นต้องตัดบางฉากออกเพื่อให้ได้เข้าฉายในบางประเทศ เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “LGBTQIA+” ในช่วง 5 ปีหลัง (2561-2565)

ปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ได้รับการยอมรับและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน ทำให้ในระยะหลังภาพยนตร์หลายเรื่องใส่ตัวละคร LGBTQIA+ เข้าไปในภาพยนตร์มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะยอมรับ LGBTQIA+

ล่าสุด “Lightyear” ภาพยนตร์แอนิเมชันฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดจาก “Pixar” และ “Disney” ถูกห้ามฉายในหลายประเทศในตะวันออกกลาง เนื่องจากในเรื่องมีฉากแสดงความรักของตัวละครเพศเดียวกัน 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาพยนตร์ถูกห้ามเข้าฉายในหลายประเทศ เพียงเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “LGBTQIA+” ทำให้หลายครั้งสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ จำเป็นต้องตัดฉากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงความรักหรือความสัมพันธ์ของตัวละคร LGBTQIA+ ออกไปเพื่อให้ได้เข้าฉายในประเทศเหล่านั้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวม 10 ภาพยนตร์ที่มีฉากเกี่ยวกับตัวละคร LGBTQIA+ จนไม่สามารถเข้าฉายในบางประเทศ หรือจำเป็นต้องตัดฉากเหล่านั้นออกไปเพื่อให้สามารถเข้าฉายได้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Bohemian Rhapsody (2561)

เริ่มกันที่ “Bohemian Rhapsody” ภาพยนตร์ชีวประวัติของ “เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี” นักร้องนำวง “Queen” ผู้ล่วงลับ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรายได้ไปถึง 903 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ประจำปี 2561 และเป็นภาพยนตร์ชีวประว้ติและภาพยนตร์แนวชีวิตที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล ไม่เพียงแค่นั้น ยังกวาด 4 รางวัลในเวทีรางวัลออสการ์ครั้งที่ 91 สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม, สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และส่งให้ รามี แมลิก (Rami Malek) คว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกด้วย อีกทั้งยังส่งให้เพลง Bohemian Rhapsody กลับเข้าสู่ชาร์ต Billboard Hot 100 อีกครั้ง ในอันดับที่ 33

แม้จะประสบความสำเร็จขนาดนี้ แต่กว่าจะได้เข้าฉายในประเทศจีนได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องตัดฉากที่พูดถึงรสนิยมทางเพศของเฟรดดี้ ทำให้คำว่า “เกย์” ถูกเซ็นเซอร์ออก รวมถึงฉากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเฟรดดี้ติดเชื้อ HIV และ ฉากที่มีเพลง “I Want to Break Free” ถูกตัดออกทั้งหมด ทำให้เนื้อเรื่องไม่ต่อเนื่องจนผู้ชมหลายคนบ่นว่าดูไม่รู้เรื่อง

 

Rocketman (2562)

ขณะที่ “Rocketman” (2562) ภาพยนตร์ชีวประวัติของ “เอลตัน จอห์น” ถูกรัฐเอกราชซามัวห้ามเข้าฉาย ด้วยเหตุผลมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “LGBTQIA+” เนื่องจากซามัวเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ ยังคงยึดหลักจารีตประเพณี และแนวคิดแบบอนุรักษนิยม อีกทั้งยังมีกฎหมายลงโทษคู่รักเพศเดียวกันอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์กล่าวกับ USA Today ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ดี สร้างแรงบันดาลใจในการก้าวต่อไปข้างหน้าได้ แต่ไม่สามารถให้เข้าฉายได้ เนื่องจากความรักของคนเพศเดียวกันไม่เหมาะสมกับความเชื่อทางวัฒนธรรมและศาสนาของประเทศ

Onward (2563)

Onward” (2563) ถือเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกของ “Disney” และ “Pixar” ที่มีตัวละคร LGBTQIA+ ซึ่งตัวละครดังกล่าวคือ ตำรวจหญิงที่เป็นไซคลอปยักษ์ตาเดียว โดยมีฉากหนึ่งที่เธอกล่าวถึงแฟนสาวของเธอ และพูดวลีติดหูของชาวเกย์ว่า “It gets better.” (แล้วมันจะดีขึ้น) ซึ่งฉากนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คูเวต กาตาร์ โอมาน และซาอุดีอาระเบียแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนในเวอร์ชันรัสเซียนั้นได้ตัดฉากดังกล่าวออก

 

Eternals (2564)

ภาพยนตร์รวมกองทัพฮีโร่อย่าง “Eternals” ที่เข้าฉายเมื่อปีที่แล้ว เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในจักรวาลมาร์เวล (MCU) ที่มีซูเปอร์ฮีโร่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน คือ ฟาสโทส (Phastos) รับบทโดย ไบรอัน ไทรี เฮนรี และ เบ็น ผู้เป็นสามี รับบทโดย ฮาซ สไลมาน โดยในภาพยนตร์มีฉากที่ทั้งคู่แสดงความรักกัน ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแบนในซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และคูเวต

 

Firebird (2564)

Firebird” (2564) ภาพยนตร์สัญชาติเอสโตเนียที่สร้างมาจากเรื่องจริง เป็นเรื่องราวของทหารอากาศหนุ่ม 2 คนที่ประจำการอยู่ในกองทัพโซเวียต ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งทั้งคู่มีความรู้สึกดี ๆ ให้กันแต่ต้องปิดซ่อนไว้ เพราะหากโดนจับได้พวกเขาจะต้องติดคุกเนื่องจากการเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ผิด 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ และได้รับรางวัลมากมาย จนได้เข้าฉายทั่วทวีปยุโรปและสหรัฐ ที่น่าแปลกใจคือได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในรัสเซียอีกด้วย แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นานมีคนร้องเรียนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของพวกรักเพศเดียวกัน เป็นการกระทำที่น่าละอายในมอสโก อีกทั้งกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกับต่อหน้าทหารรัสเซีย แม้จะไม่ได้เป็นการแบนแบบที่ภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ โดน Firebird ยังคงได้ฉาย แต่ว่าไม่มีผู้ชม ตั๋วถูกยกเลิกทั้งหมด มีเพียงโรงภาพยนตร์โล่ง ๆ เท่านั้น

 

West Side Story (2564)

มิวสิคัลสุดอมตะที่ถูกนำมาสร้างใหม่หลายต่อหลายครั้งทั้งในรูปแบบละครเวทีและภาพยนตร์ ซึ่ง สตีเวน สปีลเบิร์ก นำมาทำในรูปแบบภาพยนตร์เวอร์ชันปี 2564 อีกครั้ง ก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดถึง 7 สาขา โดย อาเรียนา เดโบซ สามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงมาครองได้สำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามเข้าฉายในซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากมีตัวละครที่เป็นทรานส์เจนเดอร์

 

Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore (2565)

Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledoreภาพยนตร์เรื่องล่าสุดแฟรนไชส์โลกเวทมนตร์ (Wizard World) หรือ จักรวาล แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ที่พึ่งเข้าฉายเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยภาคนี้เน้นเล่าถึงความสัมพันธ์และความรักของดัมเบิลดอร์และกรินเดลวัลด์ สองพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่

เพื่อให้ภาพยนตร์สามารถเข้าฉายในจีนได้ ทำให้ Warner Bros. สตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จำใจต้องตัดบทพูดที่แสดงถึงความรักของดัมเบิลดอร์และกรินเดลวัลด์ออกไป เป็นเวลา 6 วินาที โดยที่ส่วนอื่นของภาพยนตร์ยังคงอยู่ และผู้ชมยังสามารถเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์ของพ่อมดทั้ง 2 ได้อยู่

 

Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2565)

Doctor Strange in the Multiverse of Madnessเป็นครั้งแรกของจักรวาลมาร์เวล ที่พาผู้ชมเข้าไปสำรวจมัลติเวิร์สอื่น ๆ ซึ่งขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของปีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ได้ฉายในประเทศซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และคูเวต เนื่องจากมีตัวละครที่เป็น LGBTQIA+ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ Marvel เรื่องที่ 2 ที่ไม่ได้เข้าฉายในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ต่อจากเรื่อง Eternals

 

Everything Everywhere All At Once (2565)

อีกหนึ่งภาพยนตร์แนวตะลุยโลกมัลติเวิร์สที่เข้าฉายในปีนี้อย่าง Everything Everywhere All At Once ที่นำแสดงโดย “มิเชล โหย่ว” ก็ถูกห้ามฉายในซาอุดีอาระเบีย และคูเวต เช่นกัน เนื่องจากในเรื่องมีตัวละครคู่รักเลสเบี้ยนอยู่ 

ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQIA+ แต่กำหนดเรตติ้งผู้เข้าชมอายุ 21 ปีขึ้นไปเข้าชมแทน จึงทำให้ทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้และ Doctor Strange 2 สามารถเข้าฉายได้

 

Light Year (2565)

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของค่าย ดิสนีย์-พิกซาร์ ที่แฟนๆ รอคอย “Lightyear บัซ ไลท์เยียร์” ได้เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ว แต่หนังเรื่องนี้กลับถูกห้ามฉายใน 14 ประเทศ/ดินแดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อียิปต์ อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ฯลฯ อันเนื่องมาจากมีฉากจูบของคู่รักเพศเดียวกัน  

ขณะที่ผู้อำนวยการกองเซ็นเซอร์ของอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก กล่าวว่า ไม่ได้สั่งห้ามฉายหนังเรื่องนี้ แต่ขอให้เจ้าของหนังคิดถึงผู้ชมในอินโดนีเซีย ซึ่งฉาก LGBTQIA+ จูบกันยังถูกมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว

ด้านกองเซ็นเซอร์ของมาเลเซียเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า หากไม่มีเวอร์ชันที่มีการตัดฉากจูบของตัวละครเพศเดียวกันออก ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะไม่ได้ฉายในประเทศ เพราะฉากดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กและเยาวชนดู

 

ที่มา: BBC, CNN, Deadline, OutThe Hollywood ReporterThe GuardianUSA TodayVanity Fair,  Variety

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

10 หนังดัง \"ถูกแบน\" เพราะฉาก \"LGBTQIA+\"