อัปเดต สายพันธุ์โควิดในไทย จีนเปิดประเทศ และXBB.1.5ที่ระบาดในอเมริกา
จีนเปิดประเทศ กรมวิทย์ เผยสายพันธุ์โควิด-19จีน ไม่ใช่พันธุ์ใหม่ ไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าในไทย ขณะที่ไทยเจอ 1 ราย สายพันธ์ XAY.2 ลูกผสมระหว่างเดลตา AY.45 กับโอมิครอน BA.4/5 ส่วน XBB.1.5 ที่ระบาดในอเมริกา ยังไม่พบในไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีจีนเปิดประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ที่ระบาดในจีน พบว่า 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และสายพันธุ์ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย จีนยังไม่พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล จึงไม่น่ากังวล
สายพันธุ์ XBB.1.5 ในอเมริกาเพิ่ม 40 %
อีกตัวที่จับตาดู เนื่องจากพบการแพร่ระบาดมากในสหรัฐอเมริกา คือ XBB.1.5 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 40% แต่จากการเฝ้าระวัง ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในไทย
XBB.1.5 มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูสีกับ BA.2.75 ในไทย แต่มีความเหนือกว่าเล็กน้อยในเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชมากกว่ากัน
“การเปิดให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะจากประเทศใด ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ต้องชั่งเรื่องเศรษฐกิจด้วย ต้องเรียนว่าเมื่อมีการเดินทางมากขึ้น การพบสายพันธุ์ข้ามภูมิภาคก็เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือโรคไม่มีความรุนแรง ไม่มีสัญญาณอัตราป่วยหนักหรือเสียชีวิต การระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ไทยเจอ 1 ราย สายพันธุ์ XAY.2
จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด -19 ในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายตรวจพบสายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 ราย ในไทย ได้ส่งข้อมูลเผยแพร่ไปยังฐานข้อมูล GISAID ผู้ป่วยมีประวัติป่วยเมื่อเดือน พ.ย.2565 และกรมวิทย์ได้รับตัวอย่างเชื้อมาเมื่อกลางเดือน ธ.ค.2565 ส่วนคนที่อยู่ใกล้ชิดยังไม่พบการติดเชื้อ
สายพันธุ์ XAY.2 เป็นลูกผสมระหว่าง เดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 ขณะนี้ทั่วโลกพบ 344 ราย ทั่วโลกพบสายพันธุ์ย่อยๆ อีกหลายตัว แต่ที่พบมากที่สุดคือ XAY.2
“ อิทธิฤทธิ์อิทธิเดชยังไม่มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่มีการแพร่เชื้อที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับลูกผสมตัวอื่น เช่น XBC”นพ.ศุภกิจกล่าว
สายพันธุ์โควิด-19หลักที่พบในไทย
ส่วนสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลาน ของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็ว ใกล้เคียงกับ XBB.1.5
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19
การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้
จีนเปิดประเทศไม่ได่น่ากลัวกว่าชาติอื่น
ขณะที่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2566 ศ.เกียรติคุณ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ให้ความเห็นว่า โควิด-19 การรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชาวจีน ไม่ได้น่ากลัวกว่าชาติอื่น ไม่ได้น่ากลัวไปกว่า ยุโรปและอเมริกา ด้วยเหตุผลดังนี้
1. สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้เป็น โอมิครอน BA.2.75 ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาในช่วงโอมิครอน ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 70% หรือประมาณ 50 ล้านคน และการระบาดสายพันธุ์ในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ BA.1 BA.2 แล้วเป็น BA.4- BA.5 ซึ่งสายพันธุ์ BA.5 ได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้วและขณะนี้เป็น BA.2.75
ขณะเดียวกันในยุโรปและอเมริกา สายพันธุ์ต่างๆเกิดก่อนประเทศไทย และระบาดเข้าสู่ประเทศไทย สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในยุโรปและอเมริกาเมื่อหลายเดือนก่อน ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะนี้ในยุโรปและอเมริกา ได้เปลี่ยนเป็น เป็น BQ1และ BQ1.1
แต่ขณะเดียวกันในจีนขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม BA.5 ตามหลังประเทศไทย ถ้านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยนำเชื้อโควิด-19 เข้ามา จะเป็นสายพันธุ์ที่เคยระบาดผ่านไปแล้วในประเทศไทย ตรงกันข้ามกับยุโรปและอเมริกา จะเป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยระบาดในประเทศไทย
เรื่องของสายพันธุ์ในปัจจุบันนี้ ถ้ามาจากประเทศจีน จึงไม่น่าวิตกแต่อย่างใด เพราะของเราผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าจะกลัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สายพันธุ์ที่ยังไม่มีในประเทศไทยโดยเฉพาะ BQ ที่จะมาจาก ประเทศทางตะวันตกยังน่ากลัวกว่า เราก็ไม่ได้ตรวจ และไม่สามารถบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยได้ด้วย
2. การเกิดสายพันธุ์ใหม่ สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ทุกแห่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือทางตะวันตก แม้กระทั่งในอินเดีย แอฟริกา ก็เกิดได้ทั้งนั้น แต่ทั่วโลกขณะนี้ มีระบบการเฝ้าระวังด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม เข้าธนาคารกลาง และทุกประเทศได้เรียนรู้ร่วมกัน ทำไมเราจึงต้องถอดรหัสพันธุกรรมอยู่ทุกวัน ห้องปฏิบัติการผมก็ทำอยู่ทุกวันเป็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ เมื่อยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์ใหม่ จะเกิดที่ประเทศใด ก็ไม่รู้จะไปป้องกันปิดกั้นชาติใด เพราะการป้องกันประเทศจีน ประเทศเดียวไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหา อาจจะมาจากประเทศใดก็ได้
3.ที่ศูนย์ผมทำการศึกษา ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้ว 70 %หรือประมาณ 50 ล้านคน แต่ถ้าตรวจภูมิต้านทานต่อเปลือกนอกไวรัส จะพบว่า% 96 ของประชากรไทย มีภูมิต้านทานรับรู้แล้ว เกิดจากการฉีดวัคซีน และ/หรือการติดเชื้อ ร่วมด้วย ถ้าใครไม่ได้ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ธรรมชาติก็ฉีดให้ ด้วยการติดเชื้อไปแล้ว ในเด็กติดเชื้อแบบไม่มีอาการจะพบได้ถึง 1 ใน 3 ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นภูมิต้านทานที่เกิดจากสายพันธุ์ โอมิครอน ดีกว่าวัคซีนทุกชนิด เพราะตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้
4.การระบาดของประเทศไทยกำลังอยู่ในขาลงตามฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน จะพบโรคนี้รวมทั้งโรคทางเดินหายใจน้อยมาก หรือโรคโควิด-19 จะสงบลง และจะไประบาดเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ตามฤดูกาลอีกครั้งหนึ่งเป็นวงจรต่อไป
5.การให้วัคซีนต่อไปในอนาคต ก็คงจะเน้นเป็นวัคซีนประจำปี โดยเฉพาะจะให้ก่อนที่มีการระบาดในฤดูฝนเช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่มีการรณรงค์ให้ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง ผู้ที่มีภูมิเป็นบางส่วน หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว เมื่อติดเชื้อซ้ำความรุนแรงของโรคก็จะลดลงทุกอย่างจะเข้าสู่วงจรปกติที่เป็นโรคตามฤดูกาล ชีวิตต้องเดินหน้า ด้วยระเบียบวินัย และการปฏิบัติตน ในการดูแลสุขอนามัยให้แข็งแรง และป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ