เจาะคำของบประมาณรายจ่ายสธ.ปี 67 กว่า 4.37 แสนล้านบาท

เจาะคำของบประมาณรายจ่ายสธ.ปี 67 กว่า 4.37 แสนล้านบาท

 เจาะคำของบฯรายจ่ายสาธารณสุขปี 67 วงเงิน 4.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.23 %  งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 55 บาท ชงค่าป่วยการอสม.เดือนละ 2,000 บาท

     เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมนำเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขว่า  คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีวงเงินคำขอรวมทั้งสิ้น 437,131.4 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • คำขอของหน่วยงานในสังกัด 10 กรม 219,652 ล้านบาท
  • กองทุนในกำกับ 3 กองทุน 214,362 ล้านบาท
  • และองค์การมหาชน 6 หน่วยงาน 3,117 ล้านบาท
    จำแนกเป็นหมวดงบประมาณ ดังนี้
  • งบด้านบุคลากร 124,480 ล้านบาท
  • งบดำเนินการ 30,824 ล้านบาท
  • งบลงทุน 30,160 ล้านบาท
  • งบอุดหนุน 32,708 ล้านบาท
  • และงบรายจ่ายอื่นๆ 1,480 ล้านบาท
    โครงการสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น ผู้สูงอายุ วงเงิน 155.58 ล้านบาท, ยาเสพติด วงเงิน 3,341.80 ล้านบาท, สุขภาพปฐมภูมิ/อสม. วงเงิน 27,606.89 ล้านบาท, Digital Health วงเงิน 1,248.80 ล้านบาท, Medical Hub วงเงิน  162.99  ล้านบาท
    งบเหมาจ่ายบัตรทองเพิ่ม 55 บาทต่อคน 
         ในส่วนของงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอขอเพิ่มขึ้นจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2566 จำนวน 3,385.98 บาท ต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นในปี 2567 เป็นจำนวน 3,440.51 บาทต่อหัวประชากรเพื่อให้หน่วยบริการได้นำมาดูแลสุขภาพของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ
    เป้าหมายหลักคือ ปรับระบบบริการสุขภาพโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และลดความแออัด โดยจะขับเคลื่อนงานผ่านประเด็นหลัก 6 เรื่อง คือ
1.เศรษฐกิจสุขภาพและนวัตกรรมการแพทย์
2.การปรับตัวสู่สังคมสูงอายุคุณภาพ
3. การพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการจ้างงานรูปแบบใหม่
4.การเรียนรู้จากโควิด 19 เพื่อพลิกโฉมสาธารณสุข ยืดหยุ่นต่อวิกฤตและภัยอุบัติใหม่
5.งานบริการระบบปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค
และ 6.Digital Health เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ระบบการแพทย์ทางไกล

          “การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ภาพรวมกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำว่า ขอให้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ใช้เม็ดเงินภาษีให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เกิดความคุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด และมุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแนวทางเศรษฐกิจสุขภาพ Health for Wealth ที่จะเป็นแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง”นายอนุทินกล่าว   

เพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น2,000 บาท 
  นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ได้เสนอเหตุผลความจำเป็นในการเสนอเพิ่มอัตราค่าป่วยการการปฏิบัติงานและค่าเสี่ยงภัยอสม.ที่ถือเป็นหมอคนที่ 1 ตามนโยบาย 3 หมอให้เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อเดือน  ทำให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น และส่วนนี้ไม่ได้ถือเป็นส่วนเพิ่มงบประมาณเพราะอยู่ในกรอบใหญ่ของการเน้นสร้างเสริมสุขภาพ
      ผู้สื่อข่าวถามถึงโอกาสที่งบฯค่าป่วยการอสม.จะได้ตามที่เสนอ นายอนุทิน กล่าวว่า  ต้องได้ ถ้าไม่ได้จะเสนอขอทำไม  เพราะสุดท้ายคนอนุมัติงบประมาณ คือ สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากปวงชนชาวไทย มั่นใจว่าสมาชิกสภาฯทุกท่านเข้าใจถึงความุท่มเทเสียสละ การเสี่ยงชีวิต ความตั้งใจ ที่จะทำงานของพี่น้องอสม.ทุกคนไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล  และคนที่อสม.ดูแลคือคนในพื้นที่ของผู้แทนฯทุกคน มั่นใจว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างดี เป็นสิ่งที่ได้งานจากอสม.กลับคืนมา และทำให้ความมั่นคงระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อสม.ไม่ใช่มวลชนสุขภาพที่มาชวนเต้นแอโรบิกเท่านั้น แต่มีความรู้พื้นฐานเรื่องสุขภาพและความรอบรู้สุขภาพสูงมาก
เจาะคำของบประมาณรายจ่ายสธ.ปี 67 กว่า 4.37 แสนล้านบาท

      ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า คำของบประมาณในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) รวม 154,572.2 ล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากงบรายจ่ายด้านบุคลากร จะเป็นงบประมาณที่ใช้เพื่อการดูแลประชาชน โดยเฉพาะงบลงทุน ที่นำมาใช้พัฒนาสถานพยาบาลและระบบบริการสุขภาพต่างๆ เช่น ก่อสร้างอาคารบริการ ระบบบำบัดน้ำเสีย จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงงบดำเนินการที่ใช้ในการรองรับโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

     ยังมีงบลงทุนที่นำมาใช้ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ทั้งการจัดซื้อครุภัณฑ์ด้านการศึกษา การแพทย์ ยานพาหนะ และสิ่งก่อสร้าง เพื่อพัฒนาระบบการผลิตแพทย์ออกไปดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ และงบลงทุนด้านครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ อาทิ ระบบเทเลเมดิซีน ระบบข้อมูลสุขภาพ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นภาพรวม ประชาชนสามารถนำข้อมูลสุขภาพตนเองไปใช้หรือไปรับบริการได้สะดวก
    ออกพรฎ.แก้ปมงบPP

       นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงการจัดสรรงบในส่วนส่งเสริมป้องกันโรคหรืองบPP ในปีงบประมาณ 2567ว่า  สปสช.ได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)เห็นร่วมกันที่จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.)ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดำเนินการงบประมาณในส่วนนี้ครอบคลุมไปยังผู้ที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมด้วย ซึ่งขณะนี้บอร์ดสปส.ได้เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการหากเห็นชอบร่วมกัน ก็จะเสนอพรฎ.เข้าครม.เห็นชอบก็สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ทั้งนี้จะทันรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น ฝ่ายข้าราชการประจำจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

       “เดิมทีงบส่งเสริมป้องกันโรคนี้ สปสช.ดำเนินการตั้งงบประมาณและใช้ในการดูแลครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิอยู่แล้ว ไม่เฉพาะผู้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง ในปีงบประมาณ 66 ราว  5,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทักท้วงเรื่องข้อกฎหมาย ก็จะมีการดำเนินการออกเป็นพรฎ.มารองรับ ส่วนการตั้งงบ จัดสรรงบ เบิกจ่ายและบริหารจัดการก็จะเป็นแบบที่เคยทำมา ไม่กระทบการรับบริการของประชาชน โดยปีงบฯ2567 งบส่วนนี้เสนอขอราว 7,000 ล้านบาท”นพ.จเด็จ กล่าว