PM2.5 พื้นที่เสี่ยง ไม่ได้มีแค่เฉพาะกรุงเทพฯ

PM2.5 พื้นที่เสี่ยง ไม่ได้มีแค่เฉพาะกรุงเทพฯ

เริ่มตั้งแต่กลางปี 2566เป็นต้นไป กรมควบคุมมลพิษจะมีการปรับค่า ฝุ่น PM2.5ใหม่ต่ำกว่าเดิม คาดสถานการณ์ปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา และปัญหาไม่ได้มีเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร 

การเกิดฝุ่น PM2.5 หลักๆมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่  

1.ไอเสียรถจากรถยนต์หรือการจราจร  ซึ่งข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าการเผาไหม้น้ำมันดีเซลและการจราจรที่ติดขัด น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด

2.อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านหิน

3.การเผาไหม้ในที่โล่ง ซึ่งเป็นการเผาเศษวัสดุของภาคการเกษตรในการเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า และการเผาขยะ

 

กลางปี 66 ปรับค่าฝุ่น PM2.5 ใหม่

ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป กรมควบคุมมลพิษ จะมีการปรับค่าจะมีประกาศใช้ กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทยจะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เป็นไม่เกินระดับ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

หากประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้มาตรการการควบคุมการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง รถยนต์  จะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยมลภาวะออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อากาศในประเทศมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น

 

ฤดูหนาว ทำไมฝุ่นpm2.5 สูง

กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค  อธิบาย ทำไม PM2.5 จึงสูงในช่วงฤดูหนาวว่า
ฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีความกดอากาศสูงโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน พื้นดินเกิดการคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย ส่งผลให้อากาศที่เคยร้อนลอยขึ้นไปคั่นอยู่ระหว่างชั้นอากาศเย็น หรือที่เรียกว่าปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้เหมือนฝาชีหรือโดมครอบไว้ จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ประกอบกับมีลมสงบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น

 

คาดปี 66 PM2.5รุนแรงกว่าปีก่อน

ในการประชุมคณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม มีการรับทราบรายงานคาดว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5  จะมีความรุนแรงมากกว่าปี 2565 จากสภาพอุตุนิยมวิทยาและปรากฏการณ์ ลานีญา

ทั้งนี้ สภาพอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่ พ.ย.2565 -ปลาย ก.พ.2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ มีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฎการณ์ ลานีญา จะเริ่มน้อยลงหรืออนุมานได้ว่ามีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น

 

พื้นที่เสี่ยงPM2.5

สำหรับพื้นที่เสี่ยงต่อ PM2.5 แม้กทม.อาจจะมีปัญหาและได้รับการสะท้อนปัญหามากที่สุด จากสาเหตุสำคัญ การจราจรที่ติดขัด แต่มลพิษทางอากาศนั้น จะมีจุดเสี่ยงอีกหลายจังหวัง ข้อมูลกรมอนามัย พบว่า

- พื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ PM2.5 และ PM10 มี 46 จังหวัด พื้นที่อุตสาหกรรม/โรงไฟฟ้า/เหมืองโพแตช 11 จังหวัด

 - 56 ล้านคน อยู่ในพื้นที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ 

- 22 ล้านคน เป็นกลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็น

  • ผู้สูงอายุ 41% 
  • เด็กเล็ก 39%
  • กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 19%
  • หญิงตั้งครรภ์ 1% 

- 24 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ขอนแก่น และ กทม. 

- 23 จังหวัด อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์

PM2.5ผลกระทบต่อสุขภาพ

ข้อมูลจากระบบรายงานสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 พบว่า

  • มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 212,674 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 96,109 ราย
  • ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ได้ให้สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว
  • อาการที่เกิดจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 อาทิ แสบตา แสบจมูก อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะ อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง ซึ่งหากอาการไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์    
    PM2.5 พื้นที่เสี่ยง ไม่ได้มีแค่เฉพาะกรุงเทพฯ

 

7ข้อเฝ้าระวัง PM2.5

กรมอนามัยแนะ 7 ข้อ ประชาชนควรเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจาก PM2.5

1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ จากสื่อหรือช่องทางต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุชุมชน เป็นต้น โดยให้สังเกตสีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและ สีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

 2. ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ

3. ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน

4. ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทั้งหน้ากากอนามัยหรือ N95 สามารถเลือกสวมได้ความตามเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้นได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่นได้

5. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงฝุ่นสูง ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยการเช็ด/ถู แบบเปียก 6.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณที่มีฝุ่นสูง เช่น ริมถนน และห้ามสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน

7.สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

เปิดศูนย์ฉุกเฉิน PM2.5

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจังหวัดใดที่มี ค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC)

เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ

 

รับมือPM2.5ตามระดับสี 

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ พร้อมระดับสี และคำแนะนำในการปฏิบัติตัว ดังนี้

  • คุณภาพอากาศระดับ สีฟ้า

ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 0-25 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

  • คุณภาพอากาศระดับ สีเขียว

26-37 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกตb

  • คุณภาพอากาศระดับ สีเหลือง

38-50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

  • คุณภาพอากาศระดับ สีส้ม

51-90 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

  • คุณภาพอากาศระดับ สีแดง

ค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์


PM2.5 พื้นที่เสี่ยง ไม่ได้มีแค่เฉพาะกรุงเทพฯ