“บุหรี่ไฟฟ้า”ผิดกฎหมาย ขยายผลขบวนการฟอกเงิน
สถานะ “บุหรี่ไฟฟ้า”ในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครอง เตรียมขยายสู่การเอาผิดกรณี “ฟอกเงิน” ย้ำไม่มีหลักฐานช่วยเลิกบุหรี่มวน ขณะที่บางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 50 มวน เด็กสูบเสี่ยงสูบบุหรี่มวนมากกว่าคนไม่สูบ 2-4 เท่า
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส. )ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" เลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า กฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ และการครอบครอง
1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
2.สคบ. มีคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ 3.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 กรณีลักลอบนำเข้า หรือนำผ่าน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ มีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขยายผลเอาผิดกฎหมายฟอกเงิน
ที่ผ่านมาสคบ. ร่วมกับตำรวจ กรมควบคุมโรค ออกตรวจจับ โดยจับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถม13 ครั้ง จับเท่าไรก็ไม่หมด หัวใจสำคัญคือต้องจัดการกับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้ขายที่รับมาจากรายใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก เท่าที่ทราบข้อมูลขณะนี้มีผู้ลักลอบนำเข้ารายใหญ่ 10 เจ้า ซึ่งได้มีการหารือที่จะดำเนินการนำกฎหมายฟอกเงินมาเอาผิดในเรื่องนี้ด้วย และเท่าที่มีข้อมูลเชื่อว่าวงจรลักลอบนำเข้าในเรื่องนี้มีมูลค่านับพันล้านบาท
โดยเมื่อมีการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ตำรวจจะทำการขยายผลต่อว่ามีที่มาจากแหล่งของบุคคลที่ใครลักลอบนำเข้า ส่งเรื่องต่อให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ก็จะดำเนินการต่อในการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ปรากฎขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ถ้าตัดต้นตอส่วนนี้ได้ก็จะเห็นการลดลงของการลักลอบนำเข้า ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการแล้วในกรณีที่มีการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามูลค่ากว่า 80 ล้านบาท อยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผล
การโฆษณา เจ้าของสื่อผิดด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบการขายและโฆษณาในโลกออนไลน์ ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงง่าย สคบ.จึงร่วมกับตำรวจ ในการตรวจตรา และสกัดกั้น ด้วยการวางระบบปิดกั้นการมองเห็นในช่องทางออนไลน์ ทำให้เมื่อค้นหาคำว่าบุหรี่ไฟฟ้า เข้าถึงยากขึ้น แต่ก็พบว่าปัจจุบันมีการเสิร์ช ค้นหาบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบอื่น และได้มีการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปิด 7,000 เว็บไซต์ เพื่อไม่ให้ไปสู่เยาวชน
ส่วนประเด็นการโฆษณา เลิศศักดิ์ ย้ำว่า คำสั่งสคบ. ถ้ามีการโฆษณาขายบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดผิดกฎหมายทั้งหมด ทั้งเว็บไซต์ โปสเตอร์ คำพูด หรืออื่นๆ ถือเป็นการโฆษณา เพราะคำว่า ห้ามขายในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึง การเสนอหรือชักชวน โดยนอกจากผู้ขายจะผิดแล้ว เจ้าของสื่อจะมีความผิดด้วยถือเป็นผู้สนับสนุนในการฝ่าฝืนคำสั่ง อีกทั้ง กรณีที่พูดถึงบุหรี่ไฟฟ้าแม้ไม่ระบุยี่ห้อ แต่เป็นการพูดเพื่อประโยชน์ในการขาย เข้าข่ายความผิดทั้งหมดถึงจะไม่มีการระบุยี่ห้อก็ตาม
อันตรายบุหรี่ไฟฟ้า
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ซึ่งนิโคตินมีอำนาจการเสพติดสูงสุดเลิกยากกว่ายาเสพติดอื่นๆ จึงเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก เพราะนิโคตินทำให้เสพติดไปตลอดชีวิต โดยประมาณ 70 % ของคนติดนิโคตินไม่ได้เลิกไปตลอดชีวิต มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทแรงมาก ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยไปกระตุ้นให้สารโดปามีนในสมองขึ้นสูง และเมื่อลดลงจะลดต่ำกว่าระดับที่ทำให้สบาย จึงส่งผลให้คนที่ติดรู้สึกไม่สบาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด จึงต้องไปสูบเพื่อเติมนิโคตินเพื่อกระตุ้นให่โดปามีนสูงตลอด
“ที่มีการระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เป็นความเชื่อที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะเพิ่งมีการใช้ประมาณ 10 ปี อันตรายระยะสั้นเริ่มทยอยออกมา ส่วนอันตรายระยะยาวยังไม่รู้ จากบทเรียนของบุหรี่ธรรมดา ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่อันตรายจะปรากฎเต็มที่ การจะสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์อีก 20-30 ปี ดังนั้น จุดยืนของคนไทยในตอนนี้จะต้องไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า จะมการเดินหน้ารณรงค์เรื่องนี้เต็มที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลความรู้”ศ.นพ.ประกิตกล่าว
ขณะที่ รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน
“บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นกลับมาอีกครั้ง หลังจากอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลง โดยมีการมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน"
มีการแต่งกลิ่น รสชาติมากกว่า 16,000 ชนิดเพื่อดึงดูด โดยพบว่า 85 % ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูบชนิดมีกลิ่น รสชาติ ดังนั้น ข้ออ้างที่ระบุว่าให้ขายถูกกฎหมาย จะได้ควบคุมการเข้าถึงของเยาวชน ไม่เป็นความจริง เพราะบุหรี่มวนที่ถูกกฎหมายยังไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงได้ และจะเป็นการเพิ่มจุดขายมากขึ้น”ศ.นพ.ประกิตกล่าว
ไม่มีหลักฐานบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวน
เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนให้สามารถใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกฎหมายหยิบยกมากล่าวถึง คือ “บุหรี่ไฟฟ้าช่วยในการเลิกบุหรี่มวน” ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ออสเตรเลีย ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 โดย 60 % ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่
ขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ระบุชัดเจนว่า ปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือ ทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้ง คนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน
ทั้งนี้ ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลก ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจากปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ สะท้อนว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจน เช่น
- เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5% ในปี2554 เป็น 19.6% ในปี 2563
- นิวซีแลนด์เด็กอายุ 14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9% ในปี 2560 เป็น 9.6 % ในปี 2564
- ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3% ในปี2558 เป็น 8.1% ในปี 2564
ข้อมูลสถิติคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาในประเทศต่างๆ อาทิ
- เกาหลีใต้ 85 %
- เนเธอร์แลนด์ 72 %
- นิวซีแลนด์ 64 %
- อังกฤษ 55 %
- อเมริกา ผู้ใหญ่ 41 % วัยรุ่น 64 %
- ในประเทศไทยข้อมูลปี 2564 ราว 33 %
มีข้อมูลพบว่านักเรียนมัธยมติดบุหรี่ไฟฟ้า ตื่นมาต้องสูบโดสแรกในระยะเวลาที่เร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา ยิ่งสูบภายใน 30 นาทีหลังตื่นนอนบ่งบอกว่าติดมาก ที่สำคัญยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยในการเลิกบุหรี่มวน
"ทั่วโลกจึงยังไม่มีการขึ้นทะเบียนรับรองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ ซึ่งหากสามารถช่วยในการเลิกบุหรี่มวนได้จริง ก็ควรนำข้อมูลเอกสารที่ชัดเจน ยื่นขึ้นทะเบียนต่อองค์การอาหารและยาในประเทศต่างๆ แต่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทไหนไปยื่นขึ้นทะเบียนในเรื่องนี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าออกแบบมาให้คนติด มีนิโคตินสูง ไม่ใช่ช่วยให้เลิกบุหรี่”ศ.นพ.ประกิตกล่าว