'บำรุงหัวใจ' 8 ดอกไม้สื่อรักวันวาเลนไทน์ ไม่ได้มีแค่ดอกกุหลาบ
วันวาเลนไทน์ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก แนะดูแลสุขภาพบำรุงหัวใจคนรัก แนะนำ 3 ชาสมุนไพร “ยาหอม” ราชาตำรับยาแผนไทย ช่วยบำรุงหัวใจ เป็นสื่อรักแทนใจ ไม่แค่ดอกกุหลาบ
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ กรมแนะนำให้คู่รักหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยการสื่อความรักแบบไทยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มอบของขวัญให้กับคู่รัก เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงหัวใจ
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กรมฯ อยากแนะนำเพื่อมอบให้กับคนรักในวันวาเลนไทน์ ได้แก่ 3 ชาสมุนไพร ประกอบด้วย
1.ชาดอกกุหลาบมอญ ถือเป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกกันมานาน ปัจจุบันคนไทยนิยมรับประทานเป็นชาดอกกุหลาบมอญ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ เสริมสร้าง ให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพดีขึ้น
2.ชาดอกมะลิ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ดอกมะลิ มีคุณสมบัติมากกว่าการมีกลิ่นหอมเพราะในเชิงสรรพคุณทางยา ดอกมะลิ นับว่าเป็นเครื่องยาเด่นตัวหนึ่งในตำรับยาไทยหลายตำรับ มะลิ มีรสหอมเย็น สรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
3. ชาเบญจเกสร โดยนำดอกไม้ 5 ชนิด ประกอบด้วย ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง มาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ ชูกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน ช่วยให้เจริญอาหาร
วิธีรับประทาน นำดอกไม้ทั้ง 5 ชนิด ปริมาณเท่ากันใส่ลงในกาน้ำ หรือแก้ว รินน้ำร้อนแช่ไว้สักครู่ ดื่มในขณะร้อน หรืออุ่นๆ สรรพคุณ ของดอกไม้ แต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจ
- ดอกมะลิมีกลิ่นหอม รสยาหอมเย็นขม บำรุงหัวใจ แก้ไข้ ดับพิษร้อน
- ดอกพิกุล รสยาหอมเย็น แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด
- ดอกบุนนาค ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร
- ดอกสารภี รสหอมเย็น เป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น
- เกสรบัวหลวง แก้ไข้ ขับลม บำรุงเลือด ทำให้รู้สึกสดชื่น
ในส่วนยาสมุนไพรที่มีจุดเด่นในเรื่องบำรุงหัวใจ อีกตำรับ คือ ยาหอม ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ยาหอม เป็นยาที่ช่วยบำรุงหัวใจ ซึ่งไม่ได้หมายถึง การกระตุ้นการทำงาน หรือปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงการปรับการทำงานของธาตุลมในร่างกายที่ส่งผลต่อธาตุไฟ และธาตุน้ำให้ทำงานได้อย่างสมดุล ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการใช้ยาหอมให้ได้ผลดี แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำอุ่น รับประทานขณะอุ่นๆ เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอม จะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ปัจจุบันยาหอมมีรูปแบบที่ทันสมัย และพกง่ายขึ้น
ข้อห้าม และข้อควรระวังในการใช้คือ ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ควรระวังในผู้ที่ใช้ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด และละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน วาร์ฟาร์ริน โคลพิโดเกรล และ ยาหอมบางประเภท มีตัวยาการบูรเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ควรระวังการใช้อย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคตับ และไต เพราะอาจเกิดการสะสมของการบูรจนเกิดความเป็นพิษได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์