หาก 'บุหรี่ไฟฟ้า'ถูกกฎหมาย กับ 7 คำอ้างที่ไม่จริง
“บุหรี่ไฟฟ้า”ในประเทศไทย จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมายห้ามนำเข้า จำหน่าย ครอบครอง รวมถึงการโฆษณาแม้ไม่ระบุยี่ห้อ ทว่าก็มีความพยายามที่จะทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญต้องประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มากหรือน้อยกว่า
ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จากที่ในปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลทำไมคนไทย จึงต้องไม่เอาบุฟรี่ไฟฟ้า ภายในงานประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" จัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ว่า
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้ามี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว(ที่จะมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า)
อาจจะมีผลดี ถ้าหากคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา เปลี่ยนมาสูบบุไหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นพยายามเลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้ในที่สุด และสุดท้ายไม่มีการเสพติดนิโคตินอีกต่อไป
แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คือ เมื่อคนสูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาสูบบุไหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงสูบบุหรี่ธรรมดาต่อไป ซึ่งการสูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายจะมากกว่าการสูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนหากเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ แต่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งอันตรายระยะยางยังไม่มีใครรู้ เพราะเพิ่งมีบุหรี่ไฟฟ้ามาไม่นาน
ดังนั้น จะอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีผลดีต่อคนสูบบุหรี่อยู่แล้ว น่าจะไม่ถูกต้อง โดยสถิติคนที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา อาทิ เกาหลีใต้ 85 % เนเธอร์แลนด์ 72 % นิวซีแลนด์ 64 % อังกฤษ 55 % อเมริกา ผู้ใหญ่ 41 % วัยรุ่น 64 % ในประเทศไทยข้อมูลปี 2564 ราว 33 %
2.ในคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ (ที่จะมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า)
เด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงที่จะเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าตลอดชีวิต เสี่ยงจะพัฒนาต่อไปสู่สูบบุหรี่ธรรมดา 2-4 เท่า เสี่ยงที่จะนำไปสู่การติดสิ่งเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นๆ เยาวชนหรือผู้ใหญ่ที่เลิกบุหรี่ไปแล้ว กลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเสี่ยงที่จะกลับสูบบุหรี่ธรรมดาใหม่
3.บุหรี่ไฟฟ้าผลต่อสุขภาพในภาพรวม
ผลเสียต่อเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่แต่จะเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า มากกว่า ผลดีต่อคนสูบบุหรี่แล้วที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า มีทั้งนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ โดยนิโคตินมีอำนาจการเสพติดสูงสุดเลิกยากกว่ายาเสพติดอื่นๆ จึงเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก เพราะนิโคตินทำให้เสพติดไปตลอดชีวิต โดยประมาณ 70 % ของคนติดนิโคตินไม่ได้เลิกไปตลอดชีวิต มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทแรงมาก ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยไปกระตุ้นให้สารโดปามีนในสมองขึ้นสูง และเมื่อลดลงจะลดต่ำกว่าระดับที่ทำให้สบาย จึงส่งผลให้คนที่ติดรู้สึกไม่สบาย ไม่มีสมาธิหงุดหงิดจึงต้องไปสูบเพื่อเติมนิโคตินเพื่อกระตุ้นให้โดปามีนสูงตลอด
และรายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจเพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิดเช่นเหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมี่ยม และตะกั่วที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ยังพบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่20มวนและบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง50มวน
4.ผลต่อการควบคุมยาสูบของจังหวัด และประเทศ
บริษัทบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า พุ่งเป้าการตลาดไปที่เยาวชน ด้วยการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นรสมากกว่า 16,000 ชนิด การออกแบบรูปลักษณ์อุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการเพิ่มภาระต่องานควบคุมยาสูบ ที่ทรัพยาการไม่เพียงพออยู่แล้ว ทั้งอัตรากำลัง งบประมาณ ที่จะควบคุม
7 ข้ออ้างไม่จริง บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต ระบุด้วยว่า ข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริง ที่นำมาอ้างให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย ได้แก่
1.จะได้ควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าให้ได้มาตรฐาน
ความจริง คือ ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมทางเทคนิค ห้องปฏิบัติการที่จะควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า โดยในเอเชียมีเพียง 2 ห้องปฏิบัติการมาตรฐานที่จะตรวจส่วนประกอบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าคือสิงคโปร์และอินเดีย อีกทั้ง บริษัทจะขัดขวางต่อรองการกำหนดมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า และบริษัทต่อสู้คัดค้านการออกกฎหมายควบคุมส่วนประกอบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกประเทศ
2.จะได้ควบคุมการเข้าถึงของเยาวชน
ความจริงคือ บุหรี่ธรรมดาที่ถูกกฎหมาย ยังไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน การเปิดให้ขายได้อย่างถูกกฎหมาย จะเพิ่มจุดขายบุหรี่ไฟฟ้า
- ในสหรัฐ บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ห้ามขายแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี แต่ในปี 2564 มีนักเรียนต่ำกว่า 18 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2.55 ล้านคน
- ประเทศนิวซีแลนด์เด็กอายุ14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9%ในปี 2560เป็น9.6 %ในปี 2564
- ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก3.3%ในปี2558เป็น8.1%ในปี 2564
3.ควบคุมบนดิน ที่ขายใต้ดินจะได้หมดไป
ความจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือกฎหมายห้ามขาย ก็จะยังคงมีอยู่ใต้ดิน
4.รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
ความจริงคือ ในประเทศที่เปิดให้ขายได้อย่างถูกกฎหมาย เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นน้อยมาก และต้องคำนึงถึงภาษีที่จะเก็บจากบุหรี่ธรรมดาลดลง หากมีการหันสูบบุหรี่ไฟฟ้าในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว
ซึ่งกรณีที่จะเก็บภาษีโดยรวมมากขึ้น คือ ต้องมีเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประชากรที่เสพติดนิโคติน
5.ชาวไร่ยาสูบไทยจะได้ประโยชน์จากการอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า
จะขายใบยาได้มากขึ้น ความจริง คือ กว่า 80% ของบุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคตินสังเคราะห์ ซึ่งไม่ต้องใช้ใบยาสูบ
6.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบลดอันตราย
ความจริง คือ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งหมด บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะลดอันตรายลงเล็กน้อย ในผู้สูบบุหรี่ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ผู้สูบบุหรี่ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงสูบบุหรี่ธรรมดาต่อไป ซึ่งอันตรายมากกว่าการสูบเพียงบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว ส่วนในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มอันตรายอย่างชัดเจน
7.เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้สูบบุหรี่ที่ไม่มีโอกาสเลือกสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ปลอดภัยกว่า
ความจริง คือ สิทธิการสูบบูหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ไม่ใช้สิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย
องค์การอนามัยโลกยังไม่ยอมรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา และถ้าเป็นการลิดรอนสิทธิ คงจะไม่มี 32 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า