‘ไข้หวัดนก’ น่ากังวล! ส่องวิธีรับมือ-ป้องกัน หลังพบผู้เสียชีวิตในกัมพูชา
ถึงเวลาเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ขณะที่ WHO เตือนสถานการณ์เข้าขั้น “น่าเป็นห่วง”
Keypoints
- กัมพูชาพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนก H5N1 จำนวน 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 2 รายที่เป็นคู่พ่อลูก แต่ยังไม่ยืนยันติดจากคนสู่คนหรือไม่
- WHO ระบุ สถานการณ์ไข้หวัดนกทั่วโลกขณะนี้ "น่าเป็นห่วง" หลังต้นเดือน ก.พ. เคยประเมินว่าความเสี่ยงต่อมนุษย์จากโรคไข้หวัดนกนั้นอยู่ในระดับต่ำ
- ข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดนก รวมถึง รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย
เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา เปิดเผยว่า เด็กหญิงวัย 11 ขวบเสียชีวิตจากไวรัส H5N1 และได้เริ่มทำการตรวจหาเชื้อไวัสจากผู้ติดต่อใกล้ชิดกับเด็กหญิงคนดังกล่าวจำนวน 12 ราย และพบว่าบิดาของเด็กหญิงดังกล่าวติดเชื้อไวรัส H5N1 เป็นรายที่สอง และขณะนี้กำลังกักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดไพรแวง
ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค.2546 - 13 ม.ค.2565 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน 18 ประเทศ จำนวน 863 ราย เสียชีวิต 455 ราย คิดเป็น 53% ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 จากประเทศอินเดีย
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานผู้ติดเชื้อระหว่างปี 2547-2549 พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ปี 2565 สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ไม่พบรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจากโรคไข้หวัดนก
อย่างไรก็ดี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในปีที่แล้วว่า ในการประเมินความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศได้ เนื่องจากยังคงพบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศ จึงมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดมาสู่สัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงในบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทย
ข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดนก มีดังนี้
- รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย
- หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่
- ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
- หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก ด้วยน้ำสบู่
- สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง
- ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีก รวมทั้งนกในธรรมชาติ
- หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- WHO เตือนสถานการณ์ "น่ากังวล"
ดร.ซิลวี ไบรอันด์ ผู้อำนวยการฝ่ายเตรียมความพร้อมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า WHO กำลังทบทวนการประเมินความเสี่ยงทั่วโลกโดยพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุด และว่าสถานการณ์ไข้หวัดนกขณะนี้ “น่ากังวล” หลังจากในช่วงต้นเดือน ก.พ. WHO ได้ประเมินว่าความเสี่ยงต่อมนุษย์จากโรคไข้หวัดนกนั้นอยู่ในระดับต่ำ
“สถานการณ์ H5N1 ทั่วโลกกำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสในนกทั่วโลก และมีการรายงานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์” ดร.ไบรอันด์เสริม “WHO ตระหนักถึงความเสี่ยงจากไวรัสนี้อย่างจริงจัง และเรียกร้องให้ทุกประเทศเพิ่มความระมัดระวัง”
ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ในช่วงที่ H5N1 มีการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดและในหลายพื้นที่ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศไทยจึงเป็นอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจัง
การติดเชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดีขึ้น ทำให้ส่วนตัวกังวลไปที่สุกรเพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี และ สามารถเป็นแหล่งสร้างไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มาจากสุกรสู่คนเช่นกัน”