เช็ก จุดเสี่ยง‘ไข้หวัดนก’ในไทย ระวัง-ป้องกันตัวตรงจุด วัคซีนมี-ยังไม่ใช้
ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของไข้หวัดนกขึ้นได้ จากที่พบผู้เสียชีวิตในประเทศกัมพูชา จึงจำเป็นต้องยกระดับเฝ้าระวัง จุดเสี่ยงในสัตว์ และการป้องกันในคน แม้มีวัคซีนแต่ยังไม่ได้ให้ใช้วงกว้าง 'ไข้หวัดนก H5N1' อัตราป่วยตาย 60 %
Keypoints
- องค์การอนามัยโลก(WHO) ประเมินความเสี่ยงโรคไข้หวัดนกทั่วโลกว่าอยู่ในระดับ “น่ากังวล” เนื่องจากมีรายงานยกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- ไทยมีความเสี่ยงที่จะพบโรคไข้หวัดนกขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกH5N1ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ติดกับประเทศไทย
- โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนในคน ความพร้อมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะในคนรวมถึงในสัตว์ ที่สุ่มเสี่ยงนำพาเชื้อเข้ามาทั้งผ่านสัตว์ที่เลี้ยงและสัตว์ในธรรมชาติ
ไข้หวัดนกทั่วโลกตายมากกว่า 450 คน
เมื่อราวๆปลายเดือนก.พ.2566 ดร.ซิลวี ไบรอันด์ ผู้อำนวยการฝ่ายเตรียมความพร้อมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุถึงสถานการณ์ไข้หวัดนก H5N1 ทั่วโลกว่า กำลังน่าเป็นห่วง จากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสในนกทั่วโลก และมีการรายงานเพิ่มขึ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยที่ติดเชื้อรวมถึงมนุษย์ จึงขอให้ทุกประเทศเพิ่มความระมัดระวังในการเฝ้าระวัง
ก่อนนี้ในช่วงต้นก.พ.2566 องค์การอนามัยโลก ประเมินว่าความเสี่ยงโรคไข้หวัดนกต่อมนุษย์อยู่ในระดับต่ำ
อนึ่ง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้รายนงานยืนยันผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมด 900 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 450 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เจอไข้หวัดนกในประเทศต่างๆ
สถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศต่างๆทั่วโลกในช่วงปีทีผ่านมา มีรายงานการพบในประเทศต่างๆเป็นระยะ เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น
- กัมพูชา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566
- เวียดนาม เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2565
- ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2565
- จีน เมื่อราวปลายเดือนเม.ย. 2565 ประเทศจีนพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H3N8
- สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนเม.ย.256
ไข้หวัดนกในไทย
สถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ผู้ป่วยไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2549 - 2547 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย ในปี 2563 พบข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก 1 ราย ณ วันที่ 27 มีนาคม 2563 จากจังหวัดราชบุรี
“จากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทย รวมถึวไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายไข้หวัดนก แต่จังหวัดในภาคตะวันออกได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคซักซ้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ รวมไปถึงคนป่วย”นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
การติดต่อไข้หวัดนก
กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า เมื่่อสัตว์มีอาการป่วย จะแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกผ่านออกมาทางน้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ เมื่อคนไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วย อาจจะได้รับเชื้อติดมากับมือและสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตาได้
หรือเมื่อสัตว์มีการกระพือปีก คนก็สามารถติดโรคโดยการสูดหายใจนำละอองของไวรัสเข้าไปในปอดได้เช่นกัน
คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง การแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนปกติ มีโอกาสเกิดได้น้อย
อาการ-รักษาไข้หวัดนก
- ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการ วัน ในเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) อยู่ที่ประมาณ 2-5 วัน
- มีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง
- ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปอดบวมรุนแรงมากกว่า
- มีอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วย ได้แก่ ไข้สูง (ส่วนใหญ่สูงกว่า 38 องสาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
- มีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจลำบาก และมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการ แต่พบได้จากเอ็กซเรย์ปอด โดยอาการเจ็บคอ และอาการไข้หวัด พบได้บางครั้ง
- อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งพบผู้ที่เสียชีวิต หลังจากมีอาการ 9 – 10 วัน
- อัตราป่วยตายจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย ชนิด A(H5N1) เป็น 60%
- การรักษาคือการให้ยาต้านไวรัสเหมือนยาที่ให้ในไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยให้ยา Oseltamivir
วัคซีนไข้หวัดนก H5N1
- วัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคไข้หวัดนก A(H5N1) สำเร็จแล้ว
- การศึกษาในมนุษย์ยังมีค่อนข้างจำกัด
- ยังไม่มีการฉีดป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป และจำกัดการใช้เฉพาะบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดเท่านั้น
- องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคคลทั่วไป ที่จะช่วยไม่ให้เกิดการผสมสายพันธุ์กันของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในตัวคน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้
วิธีป้องกันตนเอง จากไข้หวัดนก
- หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ ควรสวมเครื่องป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา หมวก รองเท้าบู๊ต
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยน้ำสบู่ และทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์
- หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
- ทานอาหาร ที่ปรุงสุก สะอาด ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาด
- ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย มาปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
- ขณะหรือหลังกลับจากการเดินทาง มีอาการที่ผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทางและการสัมผัสสัตว์อย่างละเอียด
มาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในคน
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีการประชุมหารือเรื่องการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคไข้หวัดนก พร้อมประกาศเจตนารมสานพลังความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว One Health ของ 3 หน่วยงานได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีการเฝ้าระวังโรคมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีมาตรการขั้น 2 คือ
- ทุกหน่วยงานในสังกัด ทั้งโรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็ป) มีการใช้กลไกลด่านควบคุมโรคชายแดน
- การเฝ้าระวังคนป่วย คนที่มีอาการปอดบวม
- หากมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกจะมีการตรวจสอบเฝ้าระวังสอบสวนโรค
- สำนักบริหารการสาธารณสุข (สบรส.) ตรวจสอบการสำรองยาโอเซลทรามีเวียร์ เป็นยาที่สามารถรักษาโรคไข้หวัดนกได้ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตยานี้ได้เอง
- ขอความร่วมมือสถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด
“ยังไม่ต้องคัดกรองเข้มในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด มาตรการขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 เน้นเฝ้าระวังคัดกรอง หากพบก็จะเป็นการสอบสวนโรค และสถานการณ์ในกัมพูชาถือว่า ควบคุมได้ ไม่มีการระบาดทั้งคนและสัตว์” นพ.ธเรศ กล่าว
จุดเสี่ยงไข้หวัดนกในสัตว์
นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงต่างๆ
- มีระบบการเฝ้าระวัง นกอพยพ เป็ดไล่ทุ่ง รวมไปถึงผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีก
- มีระบบการเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี
- มีการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ 8 แห่งทั่วประเทศ
- การประสานงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาสาปศุสัตว์ ในการเฝ้าระวัง
- หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ เช่น ตายกระทันหัน อาการชัก คอบิด นสีดำคล้ำ มีอาการระบบทางเดินหายใจ หากพบสิ่งเหล่านี้ให้รีบแจ้งผ่านเครือข่าย เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ หากพื้นที่ไหนมีเหตุสงสัยสามารถทำลายสัตว์ปีกนั้นๆ บริเวณรัศมีโดยรอบได้ เพื่อเป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข
“ไม่เคยมีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในในสัตว์ เพราะมีมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงปลอดโรคไข้หวัดนก”นสพ.สมชวนกล่าว
โอกาสที่จะมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือนกอพยพ เป็ดไล่ทุ่ง และผู้เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน lส่วนการเลี้ยงสัตว์ที่ส่งออกทั่วโลก เป็นการเลี้ยงแบบระบบปิดเพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน มีการตรวจคุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ ทำให้ส่วนนี้ไม่มีปัญหา ทำให้การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งลดลง และต้องมีการขออนุญาตและมีระบบการายงาน เชื่อว่าโอกาสแพร่ระบาดมาไทยน้อย
นสพ.สมชวน ย้ำว่า ประเทศไทยเป็นเขตเฝ้าระวังไข้หวัดนก การที่จะขายเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งข้ามจังหวัดต้องขออนุญาตและมีการตรวจโรคก่อน แต่ก็มีการขายในโซเชียลมีเดียแล้วไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนย้าย ก็จะผิด ซึ่งตอนนี้กรมปศุสัตว์ตั้งหน่วยงานสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์มอนิเตอร์มีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ
“วัคซีนสำหรับสัตว์ปีกมี แต่ยังไม่ให้ใช้วัคซีน เพราะอยากรู้ว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายตรงจุดไหนหรือไม่ หากใช้ก็จะมองไม่เห็น และคู่ค้าหลายประเทศก็ไม่แนะนำให้ใช้ แต่ถ้ามติองค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศทั่วโลกให้ใช้ก็ใช้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีมติให้ใช้”นสพ.สมชวนกล่าว
ไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกในแหล่งท่องเที่ยว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯรับผิดชอบในการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่าและนกอพยพ โดยมีสัตวแพทย์ไปเก็บข้อมูลสัตว์ปีกทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยสัตว์ปีกทั้งหมด มีระบบติดตาม มีการซักซ้อมแผนกรณีเกิดสถานการณ์จริง ก็จะมีการร่วมมือกันดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในการเข้าพื้นที่เข้าไปพิสูจน์ทราบและมีการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว
“ ในแหล่งท่องเที่ยว กรมอุทยานฯ มีการเฝ้าระวัง แต่คำแนะนำคือไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกมากจนเกินไป”นายอรรถพลกล่าว