'เทเลเฮลธ์ 'โทรเวชกรรมถ้วนหน้า’ เคาะงบฯ 3,500 ล้านบาท
บอร์ด กสทช.เคาะงบฯ 3,500 ล้านบาท เดินหน้า “โทรเวชกรรมถ้วนหน้า” มุ่งการแพทย์ทางไกล เทเลเฮลธ์ระบบสุขภาพปฐมภูมิ-อุปกรณ์สำหรับคนมีภาวะพึ่งพิง ขณะที่ BigData ฐานข้อมูลสุขภาพประเทศ ยังติดอุปสรรคอำนาจหน้าที่ เสนอออกฎหมายรองรับให้ชัดเจน
นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอดร์กสทช.)เห็นชอบงบประมาณน่าจะอยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท ดำเนินการโครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) ตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง(Universal Service Obligation:USO) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม และมีส่วนของระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขด้วย ขั้นตอนต่อไปกสทช.คงจะมีการจัดซื้อจัดจ้างและเริ่มดำเนินการ
“โครงการนี้เดิมเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาด้านระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศ โดยโทรเวชกรรมถ้วนหน้า ตามที่มีการออกแบบไว้เป็นเรื่องการแพทย์ปฐมภูมิ เป็นระบบเกี่ยวกับการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)เป็นหลัก จะเป็นการนำเรื่องของเทลเมดิซีนเข้าไปดำเนินการ เน้นเรื่องการสื่อสาร ระหว่างประชาชนที่มีภาวะพึ่งพิงกับแพทย์ผู้ดูแล โดยจะมีส่วนอื่นๆเป็นเครื่องมือที่เป็นฝั่งประชาชน ที่ใช้ดูแลประชาชน เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมีการมอบให้กับคนที่มีภาวะพึ่งพิง”นพ.อนันต์กล่าว
ถามถึงความคืบหน้าในการจัดทำBigData ฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศไทย นพ.อนันต์ กล่าวว่า ฝั่งเทคนิคมีการดำเนินการเรื่อย แต่ที่พบปัญหามากที่สุด คือ การบริหารจัดการอำนาจหน้าที่ ซึ่งการที่จะทำฐานข้อมูลสุขภาพในภาพของประเทศ ต้องใช้อำนาจหน่วยงานที่เป็นองค์กรระดับประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายอำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจนให้เป็นหน่วยงานที่สามารถรวบรวมข้อมูลสุขภาพได้จากทุกส่วน เนื่องจากบริการสุขภาพอยู่ในหลากหลายสังกัดกระทรวง ไม่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เท่านั้น รวมถึง ภาคเอกชน แม้มีพรบ.สถานพยาบาลกกำกับดูแล แต่ไม่ได้ระบุถึงเรื่องของการมอบข้อมูล จะเน้นเรื่องของการให้บริการสุขภาพมากกว่า ยังขาดตอนส่วนนี้
“ตอนนี้มีพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือPDPA จะพูดถึงเรื่องการจัดความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ต้องมาทำความชัดเจนในเรื่องของกรอบอำนาจหน้าที่ ซึ่งกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้โดยตรง เพราะการออกแบบกฎหมายในช่วงนั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่อง Data มากนัก ตอนนี้ทางที่เป็นไปได้คือนำกฎหมายเดิมที่มีอยู่มาทำให้ชัดเจน เช่น ออกกฎหมายลูก หรือระเบียบเพิ่มเติม แต่รูปแบบของกฎหมายด้านสุขภาพทั้งหมดเป็นรูแบบของหน่วยบริการ แต่เมื่อจะดำเนินเรื่องอิจิทัลเฮลท์จะเป็นเรื่องของตัวบุคคล เป็นข้อมูลสุขภาพรายบุคคล จะอยู่เกินขอบเขตของรพ.ไปมาก ฉะนั้น การจะนำข้อมูลสุขภาพจากทุกรพ.มารวมกันแล้วทำให้เป็นรายบุคคล ตรงนี้ที่เป็นอุปสรรคและความไม่ชั”เจนเรื่องอำนาจหน้าที่"นพ.อนันต์กล่าว
อนึ่ง สำหรับแผนพัฒนาด้านระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) แผนปฏิบัติการระดับ3 : เพื่อการทำงานบูรณาการข้ามหน่วยงาน มีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่ออย่างทั่วถึงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล,ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลและนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพได้ และเกิดการบูรณาการข้อมูลสุขภาพบนแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติอย่างปลอดภัย เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ มี 5 แผนปฏิบัติการย่อย ได้แก่ 1.การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล 2.การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศดิจิทัลสุขภาพ 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล 4.การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลระบบสารสนเทศที่ทันสมัยนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และ 5.การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน