ลดหย่อนภาษี-คนละครึ่ง ตรวจ-ดูแลสุขภาพ
กรมควบคุมโรคยกร่างแผนปฏับิตการลดโรคNCDs ตั้งเป้าลดลง 1 ใน 4 ภายในปี 70 เตรียมดันเรื่องภาษีโซเดียม เค็มมากจ่ายมาก ขณะที่ภาคเอกชนชงรัฐลดหย่อนภาษีการตรวจสุขภาพ ออกโครงการดูแลสุขภาพคนละครึ่ง
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในงาน Chula Health and Well-being at Work Forum 2023 มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรสู่ความยั่งยืน” โดยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 58 ล้านคน ในนี้ราว 38 ล้านคนอยู่ในภาคสถานประกอบการ ซึ่งอัตราการป่วยและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs เช่น หัวใจ เบาหวาน เป็นต้น กรมได้มีการยกร่าง แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโณคไม่ติดต่อของประเทศไทย(พ.ศ.2566-2570) อยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีเป้าหมายเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ลง 1 ใน 4 ภายในปี 2570 ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1.บูรณาการเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย /ยุทธศาสตร์ชาติในการปกป้องประชาชนจากโรคNCDsและปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ 2. Health Literacy เพื่อสร้างความรอบรู้ในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยตนเองให้แก่ประชาชน และ3.Ecosystem เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงระบบนิเวสและให้ข้อมูลที่ส่งเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงโรคNCDsแก่ประชาชน
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สนับสนุนการจัดทำและประกาศ นโยบายองค์กรสุขภาพดี ประกอบด้วย 1.องค์กรมีฉันทามติร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ กำหนดบทบาทผู้บริหารและคณะทำงาน ประกาศนโยบายองค์กรสุขภาพสร้างแรงจูงใจให้บุคลากร 2.จัดสิ่งแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการจัดการสุขภาพของบุคคล เช่น มีจุดบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก มีอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ จัดสภาพแวดล้อมเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย เป็นต้น
3.มีการสนับสนุนให้บริการสุขภาพ เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง ตรวจคัดกรองความเสี่ยง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และการให้คำปรึกษาสุขภาพ เป็นต้น 4.มีการสื่อสารข้อมูลสุขภาพและพัฒนาจิตใจในรูปแบบต่างๆ จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสร้างความรอบรู้ กิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น และ5.มีการวิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลสถานะสุขภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่เป็นประเด็นความท้าทาย คือ 1.มาตรการสร้างแรงจูงใจ โดยการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล/บุคคล ในการใช้จ่ายอุปกรณ์และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงาน เป็นการอุดหนุนหรือการเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการ ในการสร้างสถานที่ทำงานเพื่อสุขภาพ และ2.มาตรการปรับสิ่งแวดล้อม โดยการลดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง ด้วยภาษีโซเดียม การจำกัดเพดานปริมาณโซเดียมในอาหาร / ขนมสำเร็จรูป เป็นการลดปริมาณโซเดียมในอาหารและขนมขบเคี้ยวลง ควบคู่กับการทำการตลาดเพื่อสังคม ผ่านสื่อสาธารณะและการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นเรื่องที่กรมกำลังผลักดันร่วมกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพภาคเอกชน อาทิ 1.เพิ่มแรงจูงใจและความผูกพันของพนักงานและสังคมด้วยการดูแลสุขภาพ 2.สวัสดิการเรื่องสุขภาพ เป็น Soft power ของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม 3.พัฒนากการเก็บข้อมูลสุขภาพของชุมชนโดยใช้AI ในการวิเคราะห์ ข้อมูลและความเสี่ยง 4.ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพควรลดหย่อนภาษีได้ 5.ควรมีโครงการคนละครึ่งในการดูแลสุขภาพ และ6.การดูแลสุขภาพ เริ่มต้นตั้งแต่อาหาร อากาศ อารมณ์ ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของแพทย์ พยาบาลหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
“การปฏิรูปประเทศในเรื่องสุขภาพยังไม่มีความชัดเจน พรรคการเมืองมีแต่พูดเรื่องการรักษาที่เป็นการแก้ไขหลังป่วย แต่ยังไม่มีพรรคไหนพูดเรื่องการดูแล ป้องกันสุขภาพก่อนป่วย ถ้าหากพรรคการเมืองไหนมีการนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนก็คงจะดีมาก”สุรงค์กล่าว