"กินเค็ม" ทำคนป่วยเสียชีวิต ภาครัฐเตรียมจัดเก็บภาษี"โซเดียม"
สถานการณ์โควิดทำให้ค้นพบว่า คนกินเค็มที่ติดโควิดมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป หลายหน่วยงานจึงร่วมกันหาวิธีช่วยเหลือประชาชนให้บริโภคโซเดียมลดลง และศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น
“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ได้รู้ว่า คนไข้ในกลุ่มที่บริโภคโซเดียมปริมาณสูงมีอัตราเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่กินเค็ม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม
มองเห็นปัญหานี้จึงได้จัดประชุมสัมมนาขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย และขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดเค็ม” ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานสัมมนาฯ และว่ากินเค็มให้น้อยลงช่วยให้สุขภาพดี
“การลดการบริโภคเกลือโซเดียม จะช่วยลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ที่มาจากกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดมีหลักฐานว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง
จากรายงาน เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก
อาหารที่มีปริมาณโซเดียมเยอะ
พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข
ภาครัฐเตรียมออกภาษีความเค็ม
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจสนับสนุนนโยบายสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น
“เห็นได้จากการจัด เก็บภาษี เครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีความเค็มตามปริมาณโซเดียม ปัจจุบันคนไทยบริโภครสหวาน มัน เค็ม มากเกินความพอดี ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
มีการบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน การลดโซเดียมเป็น 1 ใน 9 เป้าหมาย ซึ่งต้องลดให้เหลือร้อยละ 20 หรือไม่เกิน 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน ในระยะเวลา 8-10 ปีนับจากนี้
ผู้เข้าร่วมสัมมนา
เก็บภาษีความเค็มเพื่อสุขภาพ
ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า แนวทางการลดปริมาณโซเดียมโดยใช้มาตรการทางภาษีมีขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน
“วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีไม่ได้มุ่งเป้าเพิ่มรายได้ แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เพิ่มทางเลือกสินค้าโซเดียมต่ำให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลง และทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงข้อมูลการบริโภคโซเดียมอย่างสมดุลต่อร่างกาย”
ภาคไหนกินเค็มมากที่สุด ?
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า คนไทยชอบกินอาหารนอกบ้าน เพราะมีความสะดวกสบาย
“จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พบว่า คนไทยทำอาหารรับประทานเองในบางมื้อคิดเป็นร้อยละ 76 (ส่วนใหญ่ 1 มื้อต่อวัน) มีพฤติกรรมซื้ออาหารนอกบ้านสูงถึงร้อยละ 81 (เฉลี่ยวันละ 1 มื้อ) นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากเพราะสะดวกเข้าถึงง่าย
ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการลดการบริโภคเค็มอย่างต่อเนื่อง ทั้งให้ความรู้ผ่านสื่อ, การปรับฉลากโภชนาการให้ระบุปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม รวมทั้งขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมอาหารให้ปรับสูตรอาหาร ซึ่งยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เครือข่ายฯ จึงพยายามผลักดันให้เกิดมาตรการภาษีโซเดียม
จากการสำรวจปริมาณ โซเดียม 4 ภาค ล่าสุด พบว่า
- ภาคใต้ มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวันมากที่สุด คิดเป็น 4,107.8 มิลลิกรัมต่อวัน
- ภาคเหนือ 3,562.7 มิลลิกรัมต่อวัน
- ภาคกลาง 3,759.7 มิลลิกรัมต่อวัน
- กรุงเทพมหานคร 3,495.9 มิลลิกรัมต่อวัน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,315.8 มิลลิกรัมต่อวัน
ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ให้บริโภคโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น”
ดร.เรณู การ์ก (Dr.Renu Madanlal Garg) Medical Officer, NCDs องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า
“เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ว่าการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรนั้น ต้องมีมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนทราบถึงปริมาณโซเดียมที่มีอยู่สูงมากในอาหาร ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดรูปแบบฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ
เช่น การแสดงคำเตือนปริมาณโซเดียมสูง ฯลฯ จะช่วยให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าจะซื้ออาหารชนิดใดและชนิดใดไม่ควรซื้อ ส่วนการใช้นโยบายเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป จะสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับสูตรอาหารให้มีโซเดียมน้อยลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น”