'สวัสดิการอสม.' ในวันที่พรรคการเมือง รุมเอาใจ
20 มีนาคม วันอสม.แห่งชาติ ส่องสวัสดิการอสม.ที่ได้รับ เมื่อพรรคการเมืองรุมเอาใจ ช่วงชิงฐานเสียงกว่า 1 ล้านคน
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมริชมอนด์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)แห่งชาติ ประจำปี 2566 มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้อสม.ที่ปฏิบัติงานดีเด่นจำนวน 17 คน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ขึ้นเวทีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณพร้อมช่อดอกไม้ ให้กับอสม.ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติอสมดีเด่นระดับชาติ ระดับภาคทั้ง 17 คน 17 ทีมร่วมกัน โดยปัจจุบันมีอสม.ทั่วประเทศ 1,050,000 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบัน อสม. ได้ทำหน้าที่เป็นหมอคนที่ 1 ตามนโยบาย 3 หมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเข้ารับบริการในระบบสาธารณสุขประเทศ จึงต้องพัฒนาศักยภาพตนเองอยู่เสมอให้ก้าวทันเทคโนโลยีต่างๆ และความก้าวหน้าของระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการเข้ารับบริการ สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายปี 2566 “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” ด้วยการช่วยคัดกรองกรองสุขภาพ 9 ด้าน ให้กับผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ
ค่าตอบแทน ค่าเหนื่อยเพิ่มเป็น 2,000 บาทแล้วขอแสดงความยินดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้แต่เป็นสิ่งที่พี่น้องอสม.ทุกคนสมควรจะได้รับ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีหน้าที่เสนอให้ แล้วนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทุกคนให้การสนับสนุน อสม.ทุกคนจะได้รับการเพิ่มค่าตอบแทนพร้อมกันถ้วนหน้า
“อสม. อยู่คู่กับกระทรวงสาธารณสุขมาตลอดไม่ต้องไปหาเสียงอะไร เรามีความจริงใจต่อกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ กูแลกัน และหยิบยื่นโอกาสให้อสม.ทุกครั้งเพื่อให้มีผลสร้างกำลังใจในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถ้าไม่ทำจะดูก็ผิด”นายอนุทินกล่าว
ดร.สาธิต กล่าวว่า อสม. อยู่ใกล้ชิดชุมชน เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมากที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสื่อสารความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพ และช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ถือเป็นผู้จัดการสุขภาพของชุมชน ดังนั้น ขอให้ อสม.ทุกคน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้กับคนในครอบครัวและชุมชน ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งจะลดภาระของระบบสาธารณสุข และลดความแออัดของสถานพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง
ย้อนรอยค่าป่วยการอสม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2552 การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการให้ อสม. เป็นเงิน 600 บาท ครั้งแรก
- ปี 2562 เพิ่มค่าป่วยการเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเดือนละ 1,000 บาทต่อคน
- ปี 2565 ช่วงการระบาดโควิด-19 มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เดือนละ 500 บาท รวม 30 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 - กันยายน 2565 รวมเป็นเดือนละ 1,500 บาทต่อคน
- ปี 2566 ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการเป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน
สวัสดิการอสม.
นพ.สุระ กล่าวว่า กรมสบส.จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของ อสม. อย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก จัดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 อัตรา เพื่อให้ อสม. หรือบุตรที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ได้เข้าศึกษาต่อ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้ช่วยบุคลากรการแพทย์ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งดูแลด้านสิทธิสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและตอบแทนความเสียสละในการทำงาน
อนึ่ง สิทธิและสวัสดิการอสม.และการช่วยเหลือเยียวยา
1.การช่วยเหลือค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 โดยให้ได้รับการยกเว้น
2.มูลนิธิอสม. วงเงินช่วยเหลือกรณีต่อไปนี้
- สาธารณภัย 2,500-5,000 บาท
- ประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ เสียชีวิต 5,000 บาท ทุพพลภาพ 3,000 บาท เยียวยา 1,000-2,000 บาท
3.สมาคมฌกส. อสม. วงเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต อัตราเป็นไปตามจำนวนสมาชิก
4.การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ให้บริการ กรณีที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข วงเงินช่วยเหลือกรณีต่อไปนี้
- เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร 480,000-800,000 บาท
- สูญเสียอวัยวะ พิการ 200,000-480,000 บาท
- บาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 200,000 บาท