กราดยิงเพชรบุรี สิ่งที่จิตแพทย์หวั่น จี้ทหารตำรวจ-ป่าไม้-กสทช.ควบคุมดูแล
จิตแพทย์หวั่นกลุ่มคนจัดการอารมณ์ตนเองไม่ได้ เลียนแบบความรุนแรง- สังคมชินชา จี้หน่วยงานต้นสังกัดผู้ถือครองปืนวางกลไกดูแลสภาพจิตใจเจ้าหน้าที่ กสทช.ต้องควบคุมการนำเสนอเหตุความรุนแรง-กราดยิงเพชรบุรี
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่า หากติดตามข้อมูลจากข่าวจะพบว่าผู้ก่อเหตุจัดการกับความรู้สึกของตนเองในเรื่องคดีความด้วยวิธีไม่เหมาะสมด้วยการระเบิดความรุนแรง ใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่น โดยไม่กลัวกฎหมายจากการที่ถูกครอบงำความคิดในเชิงเหตุผล
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นห่วงจะเป็นการเลียนแบบในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้ว่าการก่อเหตุครั้งนี้เกิดจากการลอกเลียนแบบเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่รู้สติของตัวเองก็จะไม่ลอกเลียนแบบในเรื่องเช่นนี้ และพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ องค์ประกอบเกี่ยวข้อง
“สังคมมีความเครียดสูงขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากขึ้น จะปล่อยตัวตามสิ่งแวดล้อมไม่ได้ โดยต้องมีสติ เรียนรู้การจัดการด้านความคิด อารมณ์ด้านลบของตัวเอง ยิ่งเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ยิ่งต้องสร้างความตระหนักให้ตัวเอง เพื่อลดความเครียด ความทุกข์ของตัวเองไม่ปล่อยให้เป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านี้” พญ.อัมพร กล่าว
องค์กรต้องดูแลจิตใจผู้ถือครองอาวุธปืน
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้าย พบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชน และองค์กร เนื่องจากผู้ที่มีอาวุธปืนส่วนใหญ่อยู่ในองค์กร เช่น ทหาร ตำรวจ ,อสส., เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ซึ่งกลไกการดูแลขององค์กรจะต้องทำหน้าที่ดูแลบุคลากร ไม่ใช่เกิดปัญหาก็ส่งต่อให้ระบบสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นระบบปลายทาง
หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่ถือครอบครองอาวุธปืน ต้องมีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ ไม่จำกัดไว้เฉพาะที่ส่วนกลาง เช่น กองทัพบกมีระบบติดตามอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงพยาบาลตำรวจ ทำหน้าที่คอยกำกับติดตามสภาพจิตใจ เพราะการครอบครองอาวุธปืนมีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศและการถือครอบครองอาวุธต้องเข้าใจว่าอาจก่อเหตุได้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง ,ทำร้ายคนในครอบครัว,คนในชุมชน หรือคนไม่รู้จัก
ยกเลิกซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ
“อย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัด ในเรื่องการดูแลครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ที่สำคัญควรยกเลิก ซื้ออาวุธปืน สวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะใช้กับอาวุธ ซึ่งการใช้อาวุธควรเป็นขณะปฎิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้องแล้วก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน”นพ.ยงยุทธกล่าว
กสทช.คุมเสนอข่าว
ส่วนการนำเสนอข่าว กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่ามากจนเกินไป เพราะห่วงว่าในอนาคตสังคมจะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง โดยพฤติกรรมของความรุนแรงจากการนำเสนอข่าวจะเริ่มจาก
1. เลียนแบบหรือเป็นแบบอย่าง
2.ชินชา
3. ลดความยับยั้งชั่งใจ
ซึ่งกสทช.สามารถเข้ามาดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก สื่อออนไลน์ที่มีการลงทะเบียน เพราะการติดตามข่าวแบบทุกนาที หรือทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียดและท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา