‘โควิด’ จะมาตามฤดูกาล รับวัคซีนก่อนเข้าฤดูฝน
แม้ว่าสถานการณ์โควิดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายลง ประชาชนมีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น แต่ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจเนื่องจากโควิดเป็นโรคที่มาตามฤดูกาลผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ภายหลังจากสถานการณ์โรคโควิด 19 สงบลง ผู้คนทั่วโลกมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีรายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศปรับคำแนะนำใหม่ในการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ว่าเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ยกเว้นแต่ผู้สูงอายุ หรือเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอื่นๆ ควรจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มบูสเตอร์ระหว่าง 6-12 เดือน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มล่าสุด โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น อายุ หรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ก็มีคำถามว่าควรฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ประจำปีหรือไม่ เพราะช่วง 3 ปีก่อน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 683 ล้านคน และเสียชีวิต 6.8 ล้านศพ
แม้ว่าประเทศไทยการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ จะตามหลังประเทศตะวันตก โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึง ก.พ. ปีนี้สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยเป็น BA.2.75 มาตลอดและเริ่มลดลงในเดือน มี.ค. โดยมีแนวโน้มของสายพันธุ์ XBB 1.5 รับมาจากประเทศทางตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ในเดือน มี.ค. และในที่สุดสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 เนื่องจากหลบหลีกภูมิต้านทานได้เก่งกว่า
ว่ากันว่าขณะนี้สายพันธุ์ที่ต้องระวังคือสายพันธุ์ที่จะมาจากอินเดีย คือสายพันธุ์ XBB.1.16 กำลังเพิ่มและระบาดอย่างมากในอินเดีย ซึ่งแม้ว่าสายพันธุ์ที่เกิดใหม่แต่ละสายพันธุ์ในขณะนี้ แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่อาจจะหลบหลีกระบบภูมิต้านทานได้ ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้นหรือไม่ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการเฝ้าระวังและถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่าง เพื่อติดตามสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบางทางสุขภาพควรได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีน หลังจากเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนแล้ว เพื่อยกระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้น
ในทำนองเดียวกัน เมื่อโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาลวัคซีนโควิดก็ควรจะได้รับก่อนที่จะมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนก.พ. ถึงพ.ค. แม้ประเทศไทยจะเป็นช่วงที่โรคสงบ อย่างไรก็ตามวัคซีนประจำปีควรได้รับตั้งแต่ปลายเมษายนจนถึงพ.ค.เพื่อเป็นการเตรียมรับมือในฤดูฝนหรือช่วงนักเรียนเปิดเทอม ส่วนใหญ่จะระบาดในกลุ่มนักเรียน จากนั้นก็จะแพร่ในกลุ่มใกล้ชิด ในครอบครัว ดังนั้นผู้ที่ควรได้รับวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่มเสี่ยง ที่เมื่อติดโรคแล้ว จะรุนแรง จึงจำเป็นที่แต่ละคนควรจะพิจารณาความเสี่ยงของตัวเองในการเกิดโรคแล้วจะรุนแรงหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ
ซึ่งจากข้อมูลของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก จะพบว่ายังมีคนตายในประเทศอเมริกาในช่วง 7 วันที่ผ่านมาถึง 2,084 คน รวมทั้งตัวเลขในประเทศนิวซีแลนด์ที่เริ่มสูงขึ้น และที่ใกล้ๆ กับไทยคือประเทศอินเดียล่าสุดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเดือนที่ผ่านมา มีอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็มีอัตราการรักษาหายอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ ประเทศไทยยังคงต้องระวังกลุ่มผู้ที่ยังเปราะบางทางสุขภาพหรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงที่จะมีลูกหลานกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมครอบครัว ซึ่งทุกปีก็จะมีตัวเลขการระบาดเพิ่มมากขึ้นได้