'หมอธีระ' เผยทั่วโลกติด 'โควิด-19' เพิ่ม 45,602 คน ตายเพิ่ม 132 คน

'หมอธีระ' เผยทั่วโลกติด 'โควิด-19' เพิ่ม 45,602 คน ตายเพิ่ม 132 คน

"หมอธีระ" ทั่วโลกติดเชื้อ "โควิด-19" เพิ่ม 45,602 คน ตายเพิ่ม 132 คน เผย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด รัสเซีย ,เกาหลีใต้ ,ฝรั่งเศส ,ญี่ปุ่น และชิลี

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 45,602 คน ตายเพิ่ม 132 คน รวมแล้วติดไป 683,991,820 คน เสียชีวิตรวม 6,831,892 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ"โควิด-19"สูงสุด คือ

  1. รัสเซีย
  2. เกาหลีใต้
  3. ฝรั่งเศส
  4. ญี่ปุ่น
  5. ชิลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.3 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.42

 

Update การประชุมเกี่ยวกับ Long COVID

ในเดือนเมษายนนี้ องค์การอนามัยโลกจะจัด webinar "Expanding our understanding of post COVID-19 condition web series: the evolving research landscape" เพื่ออัพเดตความรู้วิชาการล่าสุดเกี่ยวกับ Long COVID

โดยจะจัดวันที่ 11 เมษายนนี้ 13.30-15.30 น. (CET) หรือ 18.30-20.30 น.ตามเวลาประเทศไทย

จะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมานำเสนอข้อมูลความรู้ ทั้งจากสหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม อาร์เจนติน่า และสหรัฐอเมริกา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการจัดการประชุมเสวนา ทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ "Toward a Common Research Agenda in Infection - Associated Chronic Illnesses: A Workshop to Examine Common, Overlapping Clinical and Biological Factors" ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2566

โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้ และหารือเกี่ยวกับปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังหลังจากมีการติดเชื้อ "โควิด-19" และโรคอื่นๆ

ทั้งนี้ความรู้ทางการแพทย์พบว่า หลังติดเชื้อโรคหลายชนิดจะพบผู้ป่วยที่เกิดปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรังตามมา เช่น แบคทีเรีย Borrelia burgdoferi ที่ทำให้เกิดโรคไลม์, ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19, หรือการติดเชื้ออื่นๆ อาทิ ไวรัส Ebstein-Barr จนนำไปสู่ Multiple sclerosis หรือเชื้ออื่นๆ หลายชนิดที่สัมพันธ์กับภาวะอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าเรื้อรัง Myalgic encephalomyelitis/chronic fatigue disease (ME/CFS)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Long COVID นั้นมีรายงานจำนวนผู้ประสบปัญหาทั่วโลกจำนวนมาก และกระทบต่อการใช้ชีวิต และการทำงานระยะยาว

การประชุมนี้จึงมุ่งที่จะเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ และวางแผนนำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อหาทางจัดการปัญหาเหล่านี้

ทั้งสองการประชุมสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังได้ฟรีครับ

ใครสนใจสามารถลงทะเบียนได้ตามลิ้งค์นี้ 

เมื่อวานนี้ ทางผอ.องค์การอนามัยโลกได้ทวีตโดยใส่เสื้อเชิ้ตสีดำ โดยมีข้อความสำคัญกินใจ

"When this virus is over, I still want some of you to stay away from me"

แปลตรงๆ ว่า "เมื่อไวรัสนี้สิ้นสุดลง ฉันยังต้องการให้บางคนบางกลุ่มอยู่ห่างจากตัวฉัน"

นัยยะของประโยคนี้สำคัญยิ่งนัก

หนึ่ง แม้การระบาดของไวรัสครั้งนี้จะสิ้นสุดลงในอนาคต แต่การระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิต สังเกตสังกา รักษาระยะห่างจากคนที่มีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย จะช่วยให้เรารักษาสุขภาพของตัวเราและคนใกล้ชิดได้ในระยะยาว หรือหากรู้ตัวว่าไม่สบาย ก็ควรหลีกห่างไม่ไปคลุกคลีกับคนอื่น

และบทเรียนจากหลายปีที่ผ่านมา ย่อมนำมาสู่การแปลความที่เราหลายคนเข้าใจอย่างลึกซึ้งอีกข้อคือ

สอง วิกฤติที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายระลอก พิสูจน์ให้เห็นว่าคนแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน มีการบริหารนโยบาย เป็นที่พึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด และมีแนวคิดในการจัดการยามวิกฤติเช่นไร ทั้งเรื่องการควบคุมป้องกันโรค การเปิดเผยข้อมูล การประเมินภัยจากไวรัสต่ำกว่าที่เป็นจริง การจัดซื้อจัดหาและการเข้าถึงสิ่งจำเป็น ทั้งวัคซีน ยา อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น รหัสลับในการเข้าถึงบริการ

แม้ในอนาคตการระบาดครั้งนี้จะจบลงไป แต่สอนให้เราเข้าใจคนแต่ละประเภทได้มากขึ้น ว่าควรหลีกห่าง และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตอย่างไร

...สำหรับไทยเราในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน

ความใส่ใจสุขภาพ รู้เท่าทัน ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก