เลี่ยง 'ฮีทสโตรก' หน้าร้อน แนะออกกำลังกายช่วงเวลาไหน เหมาะสมที่สุด

เลี่ยง 'ฮีทสโตรก' หน้าร้อน แนะออกกำลังกายช่วงเวลาไหน เหมาะสมที่สุด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกทำกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง ช่วงเช้าหรือเย็น เลี่ยงโรค 'ฮีทสโตรก' ในช่วงหน้าร้อน หรือเลือกทำกิจกรรมในอาคารหรือในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยเลือกทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งในสวนสาธารณะมากขึ้น เช่น วิ่ง แอโรบิก ปั่นจักรยานเดินออกกำลังกาย ซึ่งช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรมในที่กลางแจ้งเสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ง่ายมากขึ้น

อาการของโรคฮีทสโตรก

  • เหงื่อไม่ออก
  • สับสน มึนงง
  • ผิวหนังเป็นสีแดง
  • ตัวร้อนจัด

หากพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีผู้ป่วยยังรู้สึกตัวให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มในรถ หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่าหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ ขาหนีบและข้อพับต่างๆ 

หากผู้ป่วยเป็นลม หมดสติ หายใจไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้คลำชีพจรและรีบช่วยฟื้นคืนชีพและนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วนหรือโทร 1669

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ประชาชนควรปรับเวลาหรือลดเวลาการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด เช่น ทำกิจกรรมทางกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือเลือกทำกิจกรรมในอาคารหรือในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรสวมชุดที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคฮีทสโตรก ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้แก่

  • กลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้งที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มนักวิ่งมาราธอนต่างๆ ที่จะต้องสัมผัสอากาศที่ร้อนหรือความชื้นที่สูงทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อได้
  • คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนที่ดื่มน้ำน้อย ควรหลีกเลี่ยงการกิจกรรมทางกายในที่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด 

นอกจากนี้ กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคอ้วน ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป

ส่วนหญิงตั้งครรภ์หากต้องเดินทางไกลควรมีผู้ดูแล ร่วมเดินทางด้วยเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลม เมื่อเจออากาศที่ร้อนจัดภายนอก และไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้สูงอายุให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทจอดและกลางแจ้งตามลำพัง เป็นเวลานาน