'โรคฮีตสโตรก' เป็นได้ทุกคน เช็กวิธีป้องกัน ก่อนอันตรายถึงชีวิต
ในช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อนจัดจนอุณหภูมิแตะ 42 องศาเซลเซียส ส่งผลให้หลายคนเสี่ยงเป็น 'โรคลมแดด' หรือ 'โรคฮีตสโตรก' ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกคน เราจะมีวิธีสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายอย่างไร เพื่อให้สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
เมื่อเข้าเดือนเมษายน นอกจากคนไทยจะนึกถึงวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว เดือนเมษาฯ ยังถือเป็นช่วงพีคของฤดูร้อนบ้านเราอีกด้วย โดยหลายพื้นที่ในประเทศไทยอากาศร้อนจัดจนอุณหภูมิแตะ 42 องศาเซลเซียส ทำให้หลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดนาน ๆ เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลวิมุต ชวนไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคที่กำลังเป็นที่ผู้ถึงในวงกว้าง อย่าง ฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด พร้อมชวนส่องกลุ่มเสี่ยง วิธีสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายเพื่อให้สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะภัยร้ายจากความร้อนนี้ เป็นอันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ฮีตสโตรก' คืออะไร ใครเสี่ยงบ้าง
ฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อมีอาการจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก” นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อธิบาย
ฮีตสโตรกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ) Classic Heatstroke คือ ลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก แต่เป็นเพราะผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดได้ ซึ่งมักพบในเด็กอายุน้อย หรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เมื่อเจออุณหภูมิสูง ร่างกายก็อาจร้อนขึ้นมาโดยฉับพลัน
2.) Exertional Heatstroke คือ ลมแดดที่เกิดจากการออกแรงอย่างหนักเป็นเวลานาน บวกกับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนหรืออากาศอบอ้าวไม่ถ่ายเท การสวมเสื้อผ้าที่หนาและอึดอัดเกินไป ทำให้ไม่มีการระบายความร้อน
กลุ่มเสี่ยง ที่ควรระวัง
สำหรับกลุ่มเสี่ยงและช่วงอายุที่ควรระมัดระวังการเกิดฮีตสโตรก นพ. ราชรัฐ กล่าวว่า “ฮีตสโตรกเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ผู้มีภาวะอ้วน เป็นต้น โดยคนที่ออกกำลังกายน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีภาวะขาดน้ำ อาจเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่ม ๆ อื่น
"นอกจากนี้ ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาจิตเวชบางกลุ่ม ยาเสพติดกลุ่ม Amphetamine และ Cocaine ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฮีตสโตรกได้ด้วย และที่สำคัญ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงมาก รวมถึงสถานที่ปิดซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท ก็ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญได้”
สัญญาณของฮีตสโตรก ทำไมเป็นแล้วถึงเสี่ยงต่อชีวิต
อาการที่บอกว่าเราอาจกำลังเป็นฮีตสโตรกจะมี 3 อาการหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
1.) อุณหภูมิร่างกายสูงระดับ 40 องศาเซลเซส
2.) อาการทางสมอง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป อาจมีอาการเพ้อ สับสน ชัก หรือหมดสติ
3.) เหงื่อออกมากสำหรับกลุ่ม Exertional heatstroke หรือ ตัวแดงแต่ผิวแห้ง สำหรับกลุ่ม Classic Heatstroke ส่วนอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างกายเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน คือ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น
นพ. ราชรัฐ อธิบายว่า ตามที่กล่าวไปว่า ฮีตสโตรก เมื่อเป็นแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นฉับพลันและระบายออกไม่ทัน จะส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญมากมาย เช่น
- สมองบวม
- ภาวะชัก
- ไตวายเฉียบพลันจากภาวะขาดน้ำ
- ตับวายจากภาวะขาดน้ำ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจล้มเหลว
- ปอดอักเสบรุนแรง (ARDS)
- ภาวะเลือดออกง่ายหรือเกิดลิ่มเลือดทั่วร่างกาย (DIC)
- ตลอดจนกล้ามเนื้อสลาย
- แขนขาอ่อนแรง
โดยฮีตสโตรก ยังอาจทำให้อาการโรคประจำตัวของผู้ป่วยแย่ลงได้ เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
เป็นฮีตสโตรกแล้วหายได้หรือไม่
ทั้งนี้ ฮีตสโตรก เป็นแล้วหายได้ หัวใจสำคัญคือรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน และรีบลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด แนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่
- พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มและอยู่ในที่เย็นและมีอากาศถ่ายเท
- ถอดเสื้อผ้าหนาและคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย
- นอนลงและยกขาสูงเพื่อเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ
- หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- เมื่อถึงโรงพยาบาล ต้องแอดมิตเป็นผู้ป่วยที่ ICU เพื่อสังเกตอาการใกล้ชิด
- ให้น้ำเกลือ และปรับอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยเร็ว
- พร้อมติดตามสัญญาณชีพและการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ไต และสมอง จนผู้ป่วยเข้าสู่สภาวะปกติ
แนวทางป้องกันฮีตสโตรก
- การดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- สวมใส่เสื้อผ้า ที่โปร่งสบายและขับเหงื่อได้ดี
- หากต้องเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไป
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสถานที่ร้อนจัดหรือมีแดดจัด
- นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสภาพอากาศร้อนจัด