“ราชวิถี”ถอดบทเรียนโควิด-19 ผ่านวิกฤตสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
รพ.ราชวิถี ถอดบทเรียนผ่านวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กำชับแม้สถานการณ์สงบต้องเตรียมพร้อม “2P 2R” รับภัยพิบัติอยู่เสมอ ฝ่ายการแพทย์ควรวางแผนรับมือ 4 ส่วนหลัก พยาบาลควรมีการซ้อมแผนทุกปี สามารถเปิดหอผู้ป่วยได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง
Key Point :
- บทบาทและ การดำเนินงานของรพ.ราชวิถีในช่วงที่โรคโควิด-19ระบาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสถานพยาบาลแห่งหนึ่งที่รับผู้ป่วยในเขตกทม.ทั้งระดับเขียว เหลือง และแดง
- ถอดบทเรียนการรับมือของรพ.ราชวิถี จากวิกฤตโรคโควิด-19 เพื่อนำไปสู่การพัฒนารองรับสถานการณ์ที่ยั่งยืน
- แผนรับมือภัยพิบัติที่จะต้องเตรียมอยู่เสมอในหลัก 2 P 2 R และต้องพร้อมทั้งฝ่ายดูแลรักษา ฝ่ายพยาบาล และฝ่ายเครื่องมือแพทย์
ภายในงานประชุมวิชาการ ครั้งที่ 33 ในหัวข้อ “72nd Anniversary of Rajavithi Hospital : The journey of success” ของรพ.ราชวิถี เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข นำเสนอผลการศึกษาวิจัย นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ถอดบทเรียนการบริหารเครื่องมือแพทย์ผ่านวิกฤตโควิด-19สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า บทบาทของรพ.ราชวิถีในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยรพ.เป็นระดับตติยภูมิ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องคิดว่าแต่ละขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างไร จึงมีการแบ่งการดูแลผู้ป่วยตามระยะความรุนแรงของโรคโควิด-19 และมีนโยบายในการบริหารทรัพยากรทั้งบุคลากร เครื่องมือ การจัดการและงบประมาณที่ชัดเจน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่นอกรพ. จนมานนอนในรพ. และกลับบ้าน
เป็นสิ่งที่ต้องวางแผน ต้องคิดว่าแต่ละะระยะต้องทำอย่างไร จึงวางระบบเรื่องฮอสพิเทล จนกลายเป็นโมเดลให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ทั่วประเทศ มีการทำแท็กซี่โควิดในการนำคนไข้มารพ. รวมถึง ช่วงก.ค.2564 ที่มีการระบาดของจำนวนมากได้ทำโครงการอยู่บ้านปลอดภัย ให้ผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนักพักอยู่บ้านด้วยความปลอดภัย เป็นต้น
2P 2R เตรียมรับภัยพิบัติ
ระยะที่ดูเหมือนการระบาดใหญ่ของโควิด-19ผ่านพ้นไปแล้ว แต่จะต้องเข้าใจวัฎจักรของภัยพิบัติ ซึ่งโควิด-19ถือเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง จะต้องเตรียมการด้วยหลัก 2P 2R ได้แก่
1.Plan ต้องมีวางแผนความพร้อม เมื่อเกิดเหตุการณ์สามารถนำแผนที่มีมาปรับใช้ได้
2.Response การจัดการและตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน เพื่อปฏิบัติการและบรรเทาทุกข์
3. Rehabillitation การฟื้นฟูบูรณะ และการก่อสร้างใหม่ ให้กลับสู่ปกติ
และ4.Pandemic เมื่อเกิดเหตุการระบาดใหม่ ต้องป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
ดูแลผู้ป่วยเตรียมพร้อม 4 ส่วน
ด้้านฝ่ายการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย พญ.พจนี ก่อรุ่งเรือง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโควิด-19ในช่วงแรกมีความรู้น้อยมาก และพบว่าคนไข้มีปอดอักเสบ เพราะฉะนั้นรพ.ราชวิถีจะต้องดูแลกรณีผู้ป่วยหนักแน่นอน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกส่วน
1.สถานที่ มีความต้องการห้อง AIIR (Airborne Infection Isolation Room) หรือ Modified AIIR หรือ Isolation Room ซึ่งในตอนนั้นรพ.มีห้อง AIIR 4 เตียง Isolation Room 11 เตียง โจทย์จึงต้องเพิ่ม AIIR ที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้ในเวลาจำกัด และได้มีการปรับปรุงหอผู้ป่วยที่มีให้เป็น Modified AIIR เพื่อให้มีความปลอดภัย จึงต้องเอาเต้นท์ปรับระบบอากาศเป็นความดันลบเข้าไปในพื้นที่หอผู้ป่วย เมื่อช่วงต้นปี 2564 ช่วงระบาดของเดลตาที่นับเป็นระบาดที่โหดที่สุด รพ.ราชวิถี ได้มีการเตรียมพร้อม AIIR ที่สมบูรณ์รองรับ ได้ 9 เตียง
2.บุคลากรทางการแพทย์ จำนวนบุคลกรไม่เพียงพอ โดยต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19ที่มีภาวะวิกฤตได้ จึงต้องพัฒนาศักยภาพตนเองเป็นการดูแลคนไข้หนัก มีการหมุนเวียนแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และบุคลากรในอายุรศาสตร์ วิสัญญีห้องปฏิบัติการ รังสี วิศวกรรมชีวการแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟูและอื่นๆ ก็ต้องมาช่วยกันทั้งหมด
3.อุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องมีประสิทธิภาพทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย มีใช้อย่างเพียงพอ จัดหาให้พร้อมใช้ อุปกรณ์ที่มีปัญหาต้องพร้อมแก้ไข จัดหาอุปกรณ์สำรอง แต่ปัญหาในช่วงการระบาดคือ จัดซื้อจัดหาไม่ได้ เพราะไม่มีสินค้า ในการวางแผนแก้ปัญหา จึงต้องมีการวางแผน ประมาณการใช้งาน จัดสรรทรัพยากรที่มีในรพ. ประยุกต์การใช้งาน และใช้ซ้ำหมุนเวียน
และ4.ระบบบริหารจัดการ ที่ปรับตามสถานการณ์ ต้องมีระบบสเต็ปอัพ-สเต็ปดาวน์ในหอผู้ป่วยโควิด หอผู้ป่วยสามัญ มีระบบส่งต่อต่างๆ เป็นต้น
เกิดพยาบาลมัลติฟังชั่น
ขณะที่ จภิญญา เศรษฐจารุรักษ์ หัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤตแยกโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ(AIIR ICU) กลุ่มงานภารกิจด้านการพยาบาล เล่าว่า ส่วนตัวเป็นพยาบาลศัลยกรรมหัวใจมา 30 ปี แต่ถูกเรียกตัวมาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด จึงต้องปรับตัวอย่างมาก ช่วงระบาดมากมีการประสานงาน ประชุม วางแผน ระดมสมอง
ช่วงที่โควิดระบาดมาก คนไข้อื่นจำนวนลดลง ทำให้สามารถดึงบุคลากรมาดูแลคนไข้โควิดได้จากทุกแผนก แต่ต้องมาปรับกันก่อนว่าจะดูแลคนไข้อย่างไร แต่งเครื่องป้องกันอย่างไร ช่วงแรกอาจกลัวมาก ต้องปรับทัศนคตินิดนึงว่าพยาบยาลทำได้ทุกอย่าง เช่น พยาบาลห้องคลอด วิสัญญี ไอซียูอายุรกรรมมาช่วยดูแลคนไข้โควิด ก็ทำได้ สามารถปรับได้ โดยมีการสอนเป็นระยะถ้ามีปัญหาหน้างาน
เมื่อมีปัญหาต่างๆก็เกิดการเรียนรู้ คงจะไม่มีที่ไหนมีการสอนผ่านกล่องวงจรปิด ซึ่งพยาบาลบางคนไม่ได้เรียนครื่องเมื่อตัวนี้ แต่ไม่สามารถเข้าไปสอนข้างในก็สอนผ่านวงจรปิด ทุกคนก็ทำได้ดี รวมถึงการใช้เครื่องมือไฮเทคทุกอย่าง มีคนไข้ต้องใช้เครื่องเอคโมก็มี
"พยาบาลที่ปกติดูแลศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ หรืออื่นๆ จากทุกแผนกต้องมาดูแลคนไข้โควิดด้วย ก็ เป็นเหมือนพยาบาลมัลติฟังชั่นที่ดูแลได้ทุกอย่าง”จภิญญากล่าว
หลังจากนี้ ควรมีการซ้อมแผนทุกปี เหมือนซ้อมดับเพลิง ถ้ามีโควิดระบาดขึ้นอีก มีความพร้อม สามารถเปิดหอผู้ป่วยภายใน 24-48 ชั่วโมงได้ทันที
ฝ่ายเครื่องมือแพทย์
จรูญ ปิดทะเหล็ก หัวหน้างานวิศวกรรมชีวการแพทย์ กลุ่มงานสนับสนุนวิชาการและถ่ายทอด รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ภาพรวมหอผู้ป่วย/หน่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19รพ.ราชวิถีทั้ง 1 และ 2 จำนวนกว่า 200 เตียง รองรับผู้ป่วยทั้งระดับสีเขียว เหลืองและแดง ซึ่งในช่วงแรกเกิดปัญหาในเรี่องของเครื่องมือแพทย์ไม่พอใช้ แต่ก็ไม่สามารถจัดหาได้ มีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะมีความต้องการในตลาดที่สูงมาก สินค้าไม่เพียงพอ แม้มีความต้องการบริจาคจำนวนมากขึ้น แต่เครื่องมือมีความหลากหลาย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
การวางระบบดูแลหอผู้ป่วยโควิดรพ.ราชวิถีอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนสำคัญมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอีกเมื่อไหร่ อย่างเช่น
1.วางระบบและจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น โรคระบาด อุบัติภัยหมู่ ต้องพร้อมทันที
2.เตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ ตรวจเช็คทะเบียน บำรุงรักษา หมุนเวียรใช้งานเครื่องมือและระบบที่เกี่ยวข้องใช้หลัก
3.สื่อสารสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและถ่ายทอด
และ4.หลักเศรษฐกิจพอเพียง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน