ช่องว่าง 'นโยบายสาธารณสุข' เลือกตั้ง 2566 พรรคการเมือง ไม่เห็น หรือ ไม่สน
“นโยบายสาธารณสุข” ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ของพรรคการเมืองต่างๆ ยังมีช่องว่างสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึง เพื่อเติมเต็มระบบมากนัก อาจเพราะเป็นสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมยากหรือกว่าจะแสดงผลลัพธ์ก็นานเกิน 4 ปีที่อยู่ในวาระรัฐบาล
Key Point :
- ระบบสุขภาพไทย อยู่ในภาวะเสี่ยงที่รัฐ จะไม่มีเงินจ่าย จากการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ในระดับชนเพดาน
- นโยบายด้านสาธารณสุขที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง เลือกตั้ง 2566 ส่วนใหญ่ล้วนยังมุ่งไปที่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษา ซึ่งจะเพิ่มงบประมาณตามไปด้วย
- ข้อเสนอต่อนโยบายสาธารณสุขถึงพรรคการเมือง จากภาคเอกชน และทีดีอาร์ไอ เพื่อให้ระบบถูกเติมเต็มและไม่เป็นภาระงบประมาณประเทศ
ตัวอย่างนโยบายสาธารณสุขของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หยิบมาใช้หาเสียง เลือกตั้ง 2566 อาทิ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ,ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย ,พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายเพิ่มคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 พลัส
นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี,ศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี เป็นการจัดตั้งศูนย์ ฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งฟรี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น และจัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปี และศูนย์ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง สิทธิในการตายดี กองทุนผู้ป่วยติดเตียง 9,000 บาทต่อคน
ไม่แปลกที่ “นโยบายสาธารณสุข”ส่วนใหญ่ของแต่ละพรรค จะหยิบยกและมุ่งแข่งขันกันในเรื่องของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการดูแลรักษาให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมียอดมากที่สุดราว 50 ล้านคน
เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นผล เห็นภาพ ถึงสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน
แน่นอนเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองที่มาจากประชาชน พึงกระทบ ในการดูแลประชาชน
ทว่า อีกมุมนึง ในฐานะที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ควรมองไปถึงการเงินการคลังของประเทศที่จะมาตอบสนองนโยบายต่างๆด้วย
ฉะนั้น นอกจากจะมุ่งแข่งขันนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษายามป่วยแล้ว ก็ควรมองถึงเรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค” ที่เป็นการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเป็นสำคัญด้วย
เพราะนอกจากจะดีต่อประชาชน ที่จะมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังจะมีผลต่องบประมาณประเทศด้วย คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่อนาคตจะต้องดูแลรองรับผู้สูงอายุที่จะมีอาการเจ็บป่วยตามวัยอยู่แล้วด้วย
แต่ในการส่งเสริมป้องกันโรค อาจจะพูดให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ประชาชนจะได้รับยาก และกว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา อาจมากกว่า 4 ปี ที่รัฐบาลใหม่จะอยู่ในวาระ จึงอาจจะนำมาใช้โชว์เป็นผลงานรัฐบาลได้ยาก
เสี่ยง ระบบไม่มีเงินจ่าย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย”ในงานสัมมนา Than x Forum 2023 Health & Wellness Sustainability เรื่องความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย เพื่อให้อัตราการมีสุขภาพดีก่อนเสียชีวิตของคนไทยดีขึ้น
ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่การป่วยแล้วไปพบแพทย์ แต่รวมถึงระบบการดูแลค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะกาย และจิตที่ดี ผ่านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาโรค ฟื้นฟู สร้างความแข็งแกร่งและพร้อมของระบบในการรับมือโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และภัยพิบัติ
หนึ่งในความท้าทายของระบบริการสาธารณสุข คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 5% ต่อจีดีพี โดยมีการตั้งเป้าไม่ให้เกิน 5 % ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชน ประมาณ 16-18% ต่อจีดีพี พยายามไม่ให้เกิน 20 %
“ค่าใช้จ่ายของการดูแลด้านสุขภาพแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน บอกถึงว่าในอนาคตมีความเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่ยั่งยืน คือจะไม่มีเงินจ่าย โดยเฉพาะหลังเข้าสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น"รศ.นพ.ฉันชายกล่าว
ข้อเสนอเอกชนส่งเสริมสุขภาพ
ขณะที่ “สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย”ข้อเสนอแนะในการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพภาคเอกชน อาทิ
1.เพิ่มแรงจูงใจและความผูกพันของพนักงานและสังคมด้วยการดูแลสุขภาพ
2.สวัสดิการเรื่องสุขภาพ เป็น Soft power ของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม
3.พัฒนากการเก็บข้อมูลสุขภาพของชุมชนโดยใช้AI ในการวิเคราะห์ ข้อมูลและความเสี่ยง
4.ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพควรลดหย่อนภาษีได้
5.ควรมีโครงการคนละครึ่งในการดูแลสุขภาพ
และ6.การดูแลสุขภาพ เริ่มต้นตั้งแต่อาหาร อากาศ อารมณ์ ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของแพทย์ พยาบาลหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
“น่าเสียดายที่ในการหาเสียงของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง 2566 เท่าที่เห็นยังไม่มีหรือมีการพูดถึงเรื่องการสนับสนุนการดูแลสุขภาพหรือการส่งเสริมป้องกันโรคที่น้อยมาก”สุรงค์กล่าว
ทีดีอาร์ไอถึงพรรคการเมือง
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกรายงานเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” และ “ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป 2566” ส่วนหนึ่งว่า
การขยายบริการและเพิ่มสิทธิต่างๆ หลายอย่างเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็มีต้นทุนทางการคลังในระดับที่สูง ซึ่งนอกจากการระบุแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือสนับสนุนกฎหมายขยายเพดานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาทต่อเดือนที่ใช้มาแล้ว 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นและสามารถนำมาเพิ่มบำนาญและขยายบริการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตน
โดยเงินสมทบที่เก็บเพิ่มจะไม่กระทบผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายกระจายอำนาจการบริหารสถานพยาบาลของรัฐ โดยคำนึงถึงระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้สถานพยาบาลตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น
พรรคการเมืองควรทบทวนนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจริงๆ คือเน้นการรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยการท่องเที่ยวมากแล้ว ยังดึงราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนให้สูงขึ้น และเกิดการแย่งทรัพยากรซึ่งเพิ่มภาระทางการเงินของโครงการหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคมด้วย
ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองควรพิจารณานโยบายเปิดให้แพทย์และพยาบาลต่างประเทศเข้ามารักษาคนไข้ต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลที่จะรุนแรงขึ้นจากการรับคนไข้ต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรทบทวนนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลปัจจุบัน โดยสร้างกลไกควบคุมการใช้กัญชาที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ที่อาจได้รับกัญชาที่ถูกใส่ไว้ในอาหารโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว
ที่สำคัญพรรคการเมืองควรมีนโยบายยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพในระยะยาวเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำตลอดจนอุบัติภัยทางสุขภาพต่างๆ โดยพัฒนา “องค์กรเจ้าภาพ” ที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสั่งสมความรู้ทั้งด้านวิชาการและนโยบาย ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น องค์กรดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นเสนาธิการให้แก่ฝ่ายนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างใหม่ เช่น ศบค. ซึ่งแม้มีอำนาจมาก แต่ก็ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุก (Proactive)