แก้กฎหมาย 'อุ้มบุญ' ต่างชาติ-เพศเดียวกันทำได้
สบส. เดินหน้าแก้กฎหมายอุ้มบุญ เปิดทางคู่สมรสต่างชาติ คู่รักเพศเดียวกันใช้เทคโนโลยีช่วยมีบุตรได้ พร้อมให้แพทย์รับผิดชอบทั้งหมดปิดช่องรับจ้าง คาดใช้เวลา 2 ปี
จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสืบขยายผลกรณีอุ้มเหยื่อชาวจีนเรียกค่าไถ่ จนพบข้อสงสัยเชื่อมโยงขบวนการรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2566 ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส. ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งอยู่ในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของสถานพยาบาลที่รับดำเนินการเรื่องนี้ได้ว่าเป็นสถานพยาบาลที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้ หรือเป็นสถานพยาบาลใด หรือมีแพทย์ บุคลากรการแพทย์เกี่ยวข้องอย่างไร
นับตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันมีเคยที่สบส. ส่งเรื่องถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีประมาณ 40 คดี มีทั้งเรื่องการโฆษณาขายไข่ ขายอสุจิ กรณีพบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญถูกทอดทิ้ง ราวๆ 10 ราย ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั้งนี้ที่มีปัญหามากสุดคือการโฆษณาขายไข่ ขายอสุจิ ส่วนสถานพยาบาล หรือบุคลากรการแพทย์ที่รับทำ
ตอนหลังจะพบว่ามีการบินออกไปทำหัตถการในต่างประเทศมากกว่าเพื่อเลี่ยงกฎหมาย ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 (กฎหมายอุ้มบุญ) มีการควบคุมป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีที่มีการกระทำผิดนั้นถือว่าไม่มาก แต่เมื่อเป็นข่าวก็เป็นข่าวคึกโครม เลยถูกมองในเรื่องนี้ได้
“เรื่องนี้เป็นการสมประโยชน์ คนรับจ้างอุ้มบุญก็ได้ค่าจ้าง 3 - 5 แสนบาท แพทย์ สถานพยาบาลก็ได้ด้วย ทำให้ไม่มีการร้องเรียนเข้ามา จะรู้ก็เมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา หรือการพบเด็กถูกทิ้ง หรือมีลักษณะทางกายภาพ เช่น สีผิว สีตา แตกต่างจากมารดาที่อุ้มท้องมา ซึ่งก็ไม่รู้จุดประสงค์คนที่มาจ้างคนอุ้มบุญแทน ว่าต้องการเด็กไปเพื่อเป็นลูกจริงๆ หรือต้องการไปเพื่อผลประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น เป็นธนาคารเลือด อวัยวะ” ทพ.อาคม กล่าว
ทพ.อาคม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ การรับจ้างอุ้มบุญนั้นไม่อนุญาตให้ทำ เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กที่เกิดมา แต่เจะมีการอนุญาตให้คู่สามี ภรรยา ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรส และประเทศต้นทางให้การรับรองสามารถมาทำการอุ้มบุญได้
รวมถึง การอนุญาตให้คู่ชาย-ชาย คู่หญิง-หญิง ที่ต้องการมีลูกสามารถมาใช้เทคโนโลยีนี้ได้ โดยผู้ที่จะทำการอุ้มบุญต้องมีคุณลักษณะตามที่กำหนด และใช้ไข่ หรือเซลล์ของคู่นั้นๆ มาทำการอุ้มบุญ ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดว่าคนที่จะอุ้มบุญนั้นต้องเป็นญาติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่มีญาติ
“แต่ก็มีข้อกังวลว่าจะมีช่องว่างให้เกิดการรับจ้างอุ้มบุญหรือไม่นั้น ก็มีการปรับกฎหมายให้แพทย์เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่การยื่นขออนุญาต ทำหัตถการอุ้มบุญเป็นรายกรณีจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ คาดว่ากฎหมายนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี”ทพ.อาคมกล่าว