ไทยเจอ'วิกฤติโครงสร้างประชากร' เริ่มขาดแรงงาน เสี่ยงจนตอนแก่

ไทยเจอ'วิกฤติโครงสร้างประชากร' เริ่มขาดแรงงาน เสี่ยงจนตอนแก่

ไทยกำลังเผชิญวิกฤติโครงสร้างประชากร เกิดใหม่ลดลง-ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เริ่มขาดแรงงาน เสี่ยงจนตอนแก่  เล็งลดหย่อนภาษีบุตรมากกว่า 2 คน ปลดล็อกกฎหมายครอบครัว เดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ-เก็บภาษีเพิ่มและมีประสิทธิภาพ

 keypoint:

  • จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย เพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงทุกปี จะส่งผลให้ไทยเผชิญวิกฤติโครงสร้างประชากร  ปี 2566  ผู้สูงวัย 20% / วัยแรงงาน 63% /วัยเด็กเพียง 16% 
  • แนวทางการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย  มุ่งเน้นใน 4 มิติหลัก ทั้งด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ อย่างเช่น การเพิ่มลดหย่อนภาษีบุตรจาก 2  คนเป็นมากกว่านั้น
  • แนวทางการส่งเสริมผู้สูงอายุ มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ รวมถึง ข้อเสนอในการเก็บภาษี VAT เพิ่มจาก 7 % เป็น 10 % เพื่อนำส่วนที่เพิ่มขึ้นเข้าบัญชีการออมของเสียภาษี

ข้อมูลการเกิดใหม่ของประชากรไทย 5 ปีย้อนหลังมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการทดแทนต่ำกว่า 2  ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 โดยการเกิดใหม่ในปี  2561 จำนวน 666,357 คน ปี  2562 จำนวน 618,193 คน ปี 2563 จำนวน  587,368 คน ปี 2564 จำนวน  544,570 คน และปี  2565 จำนวน 502,107 คน 

       ขณะที่ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ปี 2561 จำนวน 10.66 ล้านคน ปี 2562 จำนวน 11.13  ล้านคน ปี 2563 จำนวน 11.62 ล้านคน ปี 2564 จำนวน 12.24 ล้านคนและปี  2565 จำนวน 12.69 ล้านคน

         เหล่านี้ส่งผลให้โครงสร้างประชากรไทย โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566  มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% และในปี 2583 เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12%

4 มิติแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย 
     นพ.สุวรรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  แนวทางในการแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมกับหลายกระทรวง ตั้งคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่เป็นกลไกระดับชาติ โดยสิ่งที่ดำเนินการโดยหลักมี 4 มิติ ได้แก่ 

1.มิติการแพทย์ ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ภาวะมีบุตรยากอยู่ในสิทธิประโยชน์ ขณะนี้ได้มีการเริ่มเปิดให้บริการในส่วนของภาครัฐเรื่องการให้คำปรึกษา แนะนำและช่วยเหลือในภาวะมีบุตรยาก เช่น ดูรอบประจำเดือน การกระตุ้นการตกไข่ในช่วงที่แต่ละฝ่ายมีความพร้อม รวมถึง การเก็บอสุจิ  ทั้งนี้  การใช้เทคโนโลยีช่วยผู้มีบุตรยากมากกว่า  80 % เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นสิ่งที่หน่วยบริการที่ไม่ต้องมีความซับซ้อนในเรื่องการให้บริการก็สามารถให้บริการได้ มีประมาณ 20 %  เท่านั้นที่ต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง เช่น  IVF เป็นต้น
      2.มิติด้านกฎหมาย ขณะนี้สภาพครอบครัวเปลี่ยนแปลง มีหลายคนที่อยากมีบุตรโดยไม่อยากมีคู่ หรือการสมรสในเพศเดียวกัน  ซี่งในต่างประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตกมีการให้สิทธิเหล่านี้แล้วก็จะต้องดำเนินการเรื่องของกฎหมายและทัศนคติค่านิยมของสังคม ในส่วนของประเทศไทยภาพรวมมีการผลักดันเรื่องพร.บ.คู่ชีวิต

หากกฎหมายฉบับมีผลบังคับใช้ก็จะล้อไปกับการให้สิทธิความหลากหลายทางเพศทางรัฐธรรมนูญ แล้วกฎหมายอื่นๆก็จะล้อตาม อย่างเช่น  เมื่อมีการรับรองความถูกต้องของการเป็นคู่ชีวิตแล้ว ส่วนของพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือในการมีบุตรได้ แต่จะต้องมีขั้นตอนกระบวนการ เพราะมิติซับซ้อน เป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้และช่วยกัน 

 3.มิติด้านสังคม ภาพโดยรวม บางคนอยากมีลูก แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูง ต้องช่วยกันทำงาน เมื่อมีลูกก็ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง  ต้องออกไปทำงาน จึงพยายามผลักดันให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กต่ำกว่า 2 ปีลงมา เพราะโดยส่วนใหญ่จะรับเด็ก 2 ปีขึ้นไป แต่หากรับเด็กต่ำกว่า 2 ปีลงมาโดยท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันเริ่มเปิดดำเนินการหรือผลักดันให้เปิดมากขึ้น จะช่วยให้คู่แต่งงานหลายคู่จะได้มีความมั่นใจว่าหากมีลูกจะได้รับการดูแลที่ดีในช่วงที่พ่อแม่ไปทำงาน เป็นต้น

ไทยเจอ\'วิกฤติโครงสร้างประชากร\' เริ่มขาดแรงงาน เสี่ยงจนตอนแก่
ลดหย่อนภาษีบุตรมากกว่า 2 คน
      4.มิติด้านเศรษฐกิจ  โดยก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยวางแผนคุมกำเนิดมีการใช้มาตรการทางเศรษบกิจเข้ามาประกอบด้วย ว่ารัฐจะสนับสนุนเฉพาะ 2 คน  ทำให้ครอบครัวไม่เกิดแรงจูงใจกในการมีลูกคนที่ 3 หรือ 4 เช่นเดียวกัน ปัจจุบันรัฐจะต้องมีการปรับแนวทาง เพราะอัตรการทดแทนประชากร (TFR) อยู่ที่ 1.2 หมายความว่าต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจเข้ามากระตุ้นให้อยากมีลูก มีสิทธิหรือตัวช่วยเหลือต่างๆ

     เช่น เงินช่วยเหลือกรณีมีบุตร หรือการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบันเป็นมาตรการจากตอนวางแผนให้คนคุมกำเนิด ดังนั้น บุตรคนที่3เป็นต้นไปไม่ช่วยเหลือ หรือเรื่องการศึกษาที่ขณะนี้เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งก็เป็นภาระของครอบครัว  เป็นต้น ตรงนี้รัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งภาพโดยรวมร่วมกับสภาพัฒน์และองค์กรระหว่างประเทศท่ดูบทเรียนจากประเทศต่างๆ นำมากำหนด แต่ต้องดูอย่างรอบด้าน

      นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการคาดการณ์อีก  30-50ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการใดๆประชากรในประเทศไทยจะเหลืออยู่ 30 กว่าล้านคน ตอนนี้ผู้สูงอายุยืนยาวและพยายามทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ประเด็นปัญหาคือประสิทธิภาพ โดยรวมของประเทศจะลด คำถามคือจะเอาใครมาสร้างประสิทธิภาพ หลายประเทศพยายามดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการถึงคนที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ หรือ มาตรการส่งเสริมให้คนมาอยู่และทำงาน ซึ่งประเทศไทยมีประเด็นที่สำคัญ คือ มีเด็กที่เกิดในไทยที่เป็นแรงงานต่างชาติ จะมีมาตรการเรื่องนี้อย่างไร เหล่านี้ต้องเป็นนโยบายประชากรประเทศ ที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศต้องให้ความสำคัญ 
    “ ตอนนี้ประเทศไทยเริ่มเห็นภาพวิกฤตโครงสร้างประชากรแล้ว อย่างเด็กเกิดน้อยอัตราทดแทนประชากรต่ำกว่า 2 แล้ว  ก็จะไปเปลี่ยนฐานของผู้บริโภค ฐานกำลังการผลิต และอื่นๆ  ขณะนี้ภาคการทำงาน บางสายงานก็เริ่มหาคนทำงานยากแล้ว หรือสถาบันการศึกษาก็ต้องปิดตัวลงแล้ว เพราะมีคนเข้าเรียนน้อย”นพ.สุวรรณชัยกล่าว  

ไทยเจอ\'วิกฤติโครงสร้างประชากร\' เริ่มขาดแรงงาน เสี่ยงจนตอนแก่

ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 
    ในส่วนของผู้สูงอายุ บุษบา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มีกองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึง สนับสนุนการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ เ โดยผู้สูงวัยสามารถนำเงินจากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ เป็นเงินทุนกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสิทธิ สวัสดิการ รายได้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น

    อนึ่ง ขอบเขตการแก้ไขร่างพ.ร.บ.จะมุ่งไปที่ 4 มิติ ได้แก่  1.ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพให้ผู้สูงอายุ การคุ้มครองโอกาสของการมีงานทำ การสร้างหลักประกันด้านรายได้ 2.ด้านสังคม เน้นการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในระดับชุมชน  และ4.ด้านสุขภาพและการจัดการสวัสดิการสังคม  ผู้ดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสวัสดิการสังคม  ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุระดับตำบลหรือระดับเขตในกทม.

เสี่ยงจนตอนแก่

      ขณะที่ นวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้ายดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิขการคลัง กระทรวงการคลัง  กล่าวว่า  เสี่ยงจนตอนแก่ ซึ่งตามมาตรฐานสากลรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอคงคุณภาพชีวิตใกล้เคียงก่อนเกษียณจะต้องมีไม่น้อยกว่า 50 % ของรายได้ก่อนเกษียณ  กลุ่มข้าราชการจะมีรายได้ 60-70%ของรายได้ก่อนเกษียณ

        กลุ่มลูกจ้างเอกชน  ถ้าส่งเข้าประกันสังคม 15 ปีขึ้นไป จะมีรายได้ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน  หากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มจะมีเงินก้อนอีกส่วนหนึ่ง แต่หากมีเพียงเงินประกันสังคมน้อย ไม่ออมเพิ่ม เสี่ยงรายได้หลังเกษียณก็จะไม่เพียงพอ  และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มอิสระ /แรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่พึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและรายได้ของลูกหลานเป็นหลักราว 20 กว่าล้านคน และเกิน 50 % ไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ  

     กระทรวงการคลังกำลังผลักดันให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญระดับชาติ ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องหลักประกันรายได้หลังเกษียณของประชาชน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการกองทุนการออมในแต่ละกองทุน รวมถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินชราภาพที่ประชาชนควรจะได้รับในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่างพ.ร.บ. รวมถึงผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กำลังรอเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภาต่อไป

 ชงเก็บภาษีเพิ่ม-มีประสิทธิภาพ
         วรวรรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   กล่าวว่า การจะสร้างระบบบำนาญให้ผู้สูงอายุ ควรมีการเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ขึ้นมาเป็น 10% และนำส่วนต่าง 3% เข้าสู่บัญชีเงินออมของคนที่ใช้จ่ายในการซื้อของอุปโภคบริโภคผ่านเลขประจำตัวบัตรประชาชน รวมถึง ควรจะมีมาตรการในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การมีงบประมาณเพื่อจัดสรรในการจัดสวัสดิการต่างๆ เนื่องจากผลสำรวจรายได้จากภาษีนี้ในปัจจุบันทำได้เพียง 13% เท่านั้น

      จากการที่คนที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นภาษีมีมากกว่า 20 ล้านคน ในอัตราที่เก็บได้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่เก็บได้มากถึง 24% หรือในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้ 16%