'ไซยาไนด์'คือ? ธรรมชาติมีในพืช แต่ทำไมถึงตายเสี้ยวนาที

'ไซยาไนด์'คือ? ธรรมชาติมีในพืช แต่ทำไมถึงตายเสี้ยวนาที

“ไซยาไนด์” ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และคำค้นในโซเชียลมีเดีย อันสืบเนื่องมาจากการเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดีหนึ่ง  เมื่อสัมผัสพิษถึงตาย อาจเพียงในเสี้ยวนาที จะต้องทำอย่างไรหากได้รับพิษชนิดนี้

ไซยาไนด์ คือ

         สารกลุ่ม “ไซยาไนด์” (Cyanide)   ที่ควรรู้จักมี 2 ตัว  คือ
1.ของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือโพแทสเซียม ไซยาไนด์
2.สถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเมื่อเอากรด เช่น กรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์

      ไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประโยชน์ไซยาไนด์

       ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไนลอน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ยังใช้เพื่อสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขณะที่ในเหมืองทองมีการใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดทอง เป็นต้น เกลือไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดี ส่วนก๊าซก็ละลายในน้ำได้ดีเช่นกัน ไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์ อาจระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ สำหรับชื่ออื่นของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ใช้เรียกกันก็มี กรดไฮโดรไซยาไนด์ และกรด ปรัสซิก เป็นต้น

ไซยาไนด์ในพืช

    ไซยาไนด์ ที่พบในพืช เป็นสารประกอบที่มีความเป็นพิษที่พบตามธรรมชาติในพืชบางชนิด อาทิ  มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้สด ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม

  •     มันสำปะหลัง  หากรับประทานมันสำปะหลังดิบ ในส่วนหัว ราก ใบ จะมีพิษทำให้ถึงตายได้ มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจ และทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง ถ้ากินพืชที่มีสารนี้สดๆ จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ทำให้เสียชีวิตได้ พบอาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง 

การเตรียมปรุงจะเอาผิวเปลือกออก ควร บด ขูด ก่อนปรุงแล้วพิษจะออกไป การต้มโดยเฉพาะรากควรนำมาต้ม 30 – 40 นาที แล้วทิ้งน้ำที่ต้ม ถ้าเป็นใบให้ต้มมากกว่า 10 นาที ถ้าใบแก่ให้ต้มนานกว่านี้

  • หน่อไม้สด ควรหลีกเลี่ยงการกินหน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังปรุงไม่สุกเพราะหน่อไม้ดิบมีสารซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์มีพิษต่อร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ซึ่งกลไกของร่างกายหากรับในปริมาณที่น้อยก็สามารถขับออกมาได้ทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจเข้าไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจนจะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติและเสียชีวิต

ข้อแนะนำในการต้มหน่อไม้ ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ดองหรือหน่อไม้ปี๊บ โดยเฉพาะหน่อไม้สด  ควรต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที ลดไซยาไนด์ได้ 90.5%

           ถ้ากินพืชที่มีสารนี้สดๆ จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ทำให้เสียชีวิตได้  พบอาการพิษแบบฉับพลัน คือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง 

          อย่างไรก็ตาม หากมีการล้างให้สะอาด และปรุงสุกผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม อบ หรือ ทอด เผา อบแห้ง ก็สามารถบริโภคได้ตามปกติ

อาการพิษไซยาไนด์

         ภาวะ cyanide poisoning เกิดจากการสูดดมก๊าซไซยาไนด์ หรือรับประทานสารละลายของไซยาไนด์ อาการเป็นพิษจากไซยาไนด์จะปรากฏให้เห็นในเวลาเป็นนาทีหรือภายใน 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้าหลังได้รับสารพิษ ผู้ป่วยจะหมดสติหรือชัก และตามมาด้วยภาวะช็อก และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วหลังจากได้รับไซยาไนด์
        อาการของพิษเฉียบพลันของไซยาไนด์ คือ หายใจติดขัด ชัก และหมดสติ อวัยวะที่ถูกกระทบคือ ระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต และระบบหัวใจ
อาการไม่รุนแรง

  • กล้ามเนื้อล้า แขนขารู้สึกหนัก
  • หายใจลำบาก
  • ปวดหัว รู้สึกมึนงง วิงเวียน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ลมหายใจมีกลิ่นอัลมอนด์จางๆ
  • รู้สึกระคายเคือง คันบริเวณจมูก คอ และปาก

อาการรุนแรง

  • คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบาก
  • ชักหมดสติ
  • เสียชีวิตภายใน 10 นาที

การรับมือเมื่อสัมผัสไซยาไนด์

  • สัมผัสทางผิวหนัง   ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้นๆ และนำออกจากลำตัว ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำ และสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
  • สูดดม และรับประทาน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
  • สัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ

จี้คุมเข้มไซยาไนด์

     ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไซยาไนด์ เป็นสารหรือของเหลวที่มีอันตรายสูง จะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อกภายในเวลานับเป็นนาที และเสียชีวิต โดยที่ไม่รู้ตัวว่าได้รับเข้าสู่ร่างกาย

         หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะได้รับไซยาไนด์เข้าไป แล้วรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีการสำรองยาต้านพิษเอาไว้ในโรงพยาบาลทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

      “สารนี้ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น ตั้งแต่จำนวนการครอบครอง และการนำไปใช้อย่างไร ใครนำไปใช้ จำนวนเท่าไร เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์พิษฯ ได้พยายามเรียกร้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เพียงแต่รับทราบปัญหาเท่านั้น”ศ.นพ.วินัย กล่าว

อ้างอิง:

 ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ,

กรมควบคุมโรค,

กรมอนามัย,

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,

POBPAD

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์