วันแรงงาน 'SAVE กายใจ'วัยทำงาน เมื่อโรคมาก่อนแก่

วันแรงงาน 'SAVE กายใจ'วัยทำงาน เมื่อโรคมาก่อนแก่

โรคบางโรคที่มีการเข้าใจว่ามักจะเกิดขึ้นเมื่ออายุมาก แต่กลับพบว่าคนที่อายุไม่มาก ก็มีการป่วยเช่นกัน ด้วยไลฟ์สไตล์ที่มีความเสี่ยง วันแรงงาน กระตุ้น ‘SAVE กายใจวัยทำงาน’ลดโรค 

Key Points:

  • สถานการณ์ปัญสุขภาพของคนไทยและวัยทำงานที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องโรคทางกายและโรคทางใจ โดยเฉพาะโรคเครียด โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วน
  • ผลกระทบจากไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆของคนวัยทำงานที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และแนวทางการป้องกัน
  • ข้อเสนอเนื่องในวันแรงงาน 2566 เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงต่อคุณภาพชีวิตของวัยทำงาน ทั้งเรื่องการเลิกจ้าง และเงินบำนาญชราภาพ

สถานการณ์สุขภาพกาย-ใจ

    ปัญหาสุขภาพกายของคนไทย ปี 2559-2563 อัตราเสียชีวิต จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด อัตราเสียชีวิต 123.3 ,47.1 และ 31.8 ต่อประชากรแสนคน สาเหตุจากบริโภคอาหาร หวาน มัน และเค็มมากเกินเกณฑ์ ขาดการออกกำลังกาย

         สุขภาพจิต ต้นปี 2565 ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบวัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน 392 ราย ของสายทั้งหมด 5,978 สาย

  • ต้นปี 2565 พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 88,119 คน สาเหตุเกิดจากการลาออกด้วยตัวเองจากภาวะหมดไฟ ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 77,143 คน หรือ 87.54 %
  • ปี 2565 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยทำงาน 9.43 ต่อแสนประชากร (3,650 คน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
  • อัตราการพยายามฆ่าตัวตายในวัยทำงานอยู่ที่ 45.24 ต่อแสนประชากร (17,499 คน) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเล็กน้อย

โรคอ้วนลงพุง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงาน จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 -2563 พบว่า ค่าเฉลี่ย BMI ของผู้ชายเท่ากับ 24.2 และผู้หญิงเท่ากับ 25.2 ถือว่าเกินกว่าเกณฑ์ปกติ โดยผู้ชายร้อยละ 37.8 และผู้หญิง ร้อยละ 46.4 อยู่ในเกณฑ์อ้วน นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชาย ร้อยละ 27.7 และผู้หญิง ร้อยละ 50.4 อ้วนลงพุง

    สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในภาวะเร่งรีบกลุ่มวัยทำงานอาจเลือกกินอาหารจานด่วนที่ไม่ถูกหลักทางโภชนาการ เนื่องจากต้องการอาหารที่ทำง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

      จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพกลุ่มวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.4 กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามข้อแนะนำ ร้อยละ 78.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจากการสำรวจครั้งที่ 5 ที่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอร้อยละ 74.1 รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอร้อยละ 30.7
โรคหัวใจและหลอดเลือด

     กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไลฟ์สไตล์ของวัยทำงานมีลักษณะการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ขาดการควบคุมดูแลโภชนาการอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการทำงานที่เผชิญภาวะกดดัน ความเครียดสะสม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย 
    โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases, CVD) เป็นโรคเรื้อรังที่จัดเป็น ปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรไทย

วันแรงงาน \'SAVE กายใจ\'วัยทำงาน เมื่อโรคมาก่อนแก่

  • พฤติกรรมเสี่ยง

1) การกินอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม อาทิ ฟาสฟู้ด อาหารแช่แข็ง เป็นอาหารที่สะดวก รวดเร็ว เหมาะกับไลฟ์สไตล์วัยแรงงาน แต่ถือเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันสูง
2) การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มักเป็นกิจกรรมที่ชาวแรงงานหลายคนใช้เพื่อเข้าสังคมหรือกำจัดขจัดความเครียด ทว่า บุหรี่มีสารพิษที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจรุนแรง ส่วนแอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงขต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
3) ขาดการออกกำลังกาย พี่น้องแรงงานส่วนมากมีพฤติกรรมทำงานนั่งอยู่กับที่เป็นเวลา ไม่ค่อยขยับร่างกาย และ (มักอ้างว่า) ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทั้งนี้ อาจด้วยการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และการเดินทางไปทำงานที่ต้องอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน
4) ความเครียดสะสม เกิดจากการทำงานหนัก ต้องอยู่ในสภาวะกดดัน สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ และพักผ่อนน้อย ส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

  • อาการ

- รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจลำบากมากกว่าปกติ เมื่อเดินขึ้นบันได เดินเร็ว หรือออกกำลังกาย (หอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก)
- เจ็บบริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้าย
- ใจสั่น
- พบว่าเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุมากขึ้น
- หลังเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่สามารถนอนราบได้ หรือต้องนอนหัวสูง นอนหมอนมากกว่า 2 ใบ
หากมีอาการเสี่ยงจึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด และเข้าสู่การรักษาต่อไป

  • วิธีการดูแลตัวเอง ควรเริ่มต้นจากการปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

- เรียนรู้วิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม ทำจิตใจให้แจ่มใส เช่น การหางานอดิเรก การเดินทางท่องเที่ยว
- กินอาหารให้หลากหลาย งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ปรับโภชนาการให้เหมาะสม
- ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 6 - 8 ชั่วโมง ไม่หักโหมทำงานจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพให้เหมาะสมตามวัยและความเสี่ยงของร่างกาย


ความมั่นคงในชีวิตวัยทำงาน
       นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันแรงงาน 2566ว่า  ข้อเรียกร้องในปีนี้ คือ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

2. เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานออกพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง ให้มีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีสถานประกอบการเลิกจ้าง

3. สิทธิตามระบบประกันสังคม ขอเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่ม เงินบำนาญชราภาพเริ่มต้นที่ 5,000 บาท จากเดิมที่สูงสุดราว 3,000 บาท

4. ขอเรียกร้องให้คงสิทธิ์ 3 ประการให้กับผู้ประกันตน ที่เกษียณ และเข้าสู่ประกันตนเองตามมาตรา 39 การรักษาพยาบาลตลอดชีวิต เงินชดเชยทุพพลภาพ และค่าทำศพ


อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต, กรมควบคุมโรค, กรมอนามัย ,สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์