โควิดวันนี้ (8 พ.ค.66) ยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ 1,699 ราย เสียชีวิต 10 ราย
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค.2566 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 1,699 ราย ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 10 ราย
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 กรมควบคุมโรค ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 1,699 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 242 ราย/วัน
- ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 10 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน
- หายป่วยสะสม 10,081 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
- เสียชีวิตสะสม 298 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบ 219 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 113 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนจำนวนการให้ "วัคซีนโควิด-19" ณ วันที่ 6 พ.ค.2566 มีการให้วัคซีน สะสม 144,951,341 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส ดังนี้
- วัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,233,919 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส
- วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 53,730,348 โดสเพิ่มขึ้น 0 โดส
- ตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป 33,987,074 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส
ขณะที่ ข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจงภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 โดยอธิบายไว้ ดังนี้
1. ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือหมดไปจากท้องถิ่น (elimination) ได้เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน
2. องค์การอนามัยโลกยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic)
3. การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้นในทุกช่วงของปี
4. องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม 2563 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 จึงถือว่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี