'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 WHO ย้ำว่าการระบาดทั่วโลกยังไม่สิ้นสุด
"หมอธีระ" อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 WHO ย้ำว่าการระบาดทั่วโลกยังไม่สิ้นสุด ชี้สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 และ XBB.1.9.x มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 29,958 คน ตายเพิ่ม 90 คน รวมแล้วติดไป 687,758,500 คน เสียชีวิตรวม 6,870,999 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด-19" สูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- รัสเซีย
- ฝรั่งเศส
- เวียดนาม
- ฟิลิปปินส์
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.29 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.55
WHO ย้ำว่าการระบาดทั่วโลกยังไม่สิ้นสุด
หลังจากวันก่อน ที่องค์การอนามัยโลกประกาศยุติภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือ PHEIC (Public Health Emergency of International Concern) สำหรับโรคโควิด-19 ไปนั้น
ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลลวงมากมาย ทำให้เข้าใจผิดว่าการระบาดทั่วโลกสิ้นสุดลงไปอย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจริง
ล่าสุด ทาง Dr.Maria Van Kerkhove จาก WHO ได้ทวีตย้ำอีกครั้งว่า การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สิ้นสุด
ดังนั้นจึงไม่ควรหลงไปกับคำลวงโลก ที่จะทำให้เกิดการบิดเบือนการรับรู้ความเสี่ยงและสถานการณ์ระบาด จนอาจทำให้พฤติกรรมการป้องกันตัวอ่อนลงจนเป็นเหตุให้เราติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตตามมา การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก
อัปเดตเรื่องการระบาดจาก WHO
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ชี้ให้เห็นว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่รายงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดือนก่อนถึง 454% และมีจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 317%
Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.x นั้นครองการระบาดทั่วโลก โดย ณ กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีสัดส่วนการตรวจพบสูงถึงกว่า 80%
สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 และ XBB.1.9.x มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับไทยเรา
ด้วยสถานการณ์ระบาดตอนนี้ ยังคงมีการติดเชื้อกันมากรายรอบตัว
การติดเชื้อแต่ละครั้ง ย่อมเสี่ยงที่จะทำให้ป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และมีภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้ด้วย
ควรใช้ชีวิตประจำวัน โดยฝึกตนเองให้หมั่นสังเกต ประเมินตนเอง ลูกหลาน คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรือคนรอบข้างที่รู้จักมักจี่ หากมีอาการไม่สบาย ก็แนะนำให้ไปตรวจรักษาให้เร็ว และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อในที่นั้นๆ เพื่อช่วยตัดวงจรการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
ภาระโรคเรื้อรัง ที่มีความรู้ทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นกันมาตลอดแล้วว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ฯลฯ น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ตามมาในอนาคตสำหรับระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ
คงจะดีที่สุด หากปรับวิถีการใช้ชีวิต มีสติ ไม่ประมาท ลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่เสี่ยง
การใส่หน้ากากป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก