7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ รับ 'วัคซีนคู่' ป้องกัน 2 โรค ฟรี
เริ่มแล้ว ฉีด 'วัคซีนคู่'ประจำปี ป้องกัน 2 โรค 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิฉีดฟรี เตรียมวัคซีนรองรับ 5.26 ล้านโดส ส่วนทุกคนสามารถเข้ารับวัคซีนโควิดได้ฟรีหากรับนานเกิน 6 เดือน คาดปีนี้ผู้ป่วย 2 โรคเพิ่มสูงขึ้นในหน้าฝน ระบุโควิดยังรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงไม่รับวัคซีน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม World Immunization Week: 2023 Vaccine for Everyone “Episode II: วัคซีนคู่ สู้หน้าฝน (Dual Immunity)”ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ ทำให้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อมูลทางระบาดวิทยาคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ จะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจะมีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตได้
ขอเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายตามเกณฑ์เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนประจำปี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของตนเอง ป้องกันคนในชุมชน ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะห่าง ทำให้สะดวกต่อการมารับบริการในครั้งเดียว มีความปลอดภัยสูง การศึกษาวิจัยของต่างประเทศไม่พบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากการฉีดพร้อมกัน ซึ่งหลายประเทศในยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนคู่ ฟรี
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า 7 กลุ่มเสี่ยง ในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าฤดูฝน ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้หากรับเข็มล่าสุดมานานเกิน 6 เดือนแล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน4. ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)6. โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 5.26 ล้านโดส
“มีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ไว้อย่างเพียงพอ ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มุ่งหวังให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการฉีดครอบคลุมมากขึ้น จึงได้ปรับลดค่าบริการฉีดวัคซีนจาก 60 บาทเหลือ 20 บาทต่อครั้ง เพื่อให้ สปสช.นำเงินค่าบริการส่วนนี้ไปปรับเป็นงบประมาณจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติม ช่วยประหยัดงบประมาณ และเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มอีก 8.6 แสนโดส เมื่อรวมกับวัคซีนที่ สปสช. จัดซื้อให้กลุ่มเสี่ยงก่อนหน้า 4.4 ล้านโดส จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการทั้งสิ้น 5.26 ล้านโดส”นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ในปีนี้สธ.มีนโยบายเร่งรัดติดตามให้กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด 19 ที่คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้ง 2 โรคควบคู่กันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงและคนรอบข้างได้ การจัดกิจกรรมในวันนี้จึงเน้นการสื่อสารภายใต้กรอบแนวคิดวัคซีนคู่ สู้หน้าฝน เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตระหนักและมารับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ช่วยลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิต
อัตรากลุ่มเสี่ยงฉีดอยู่ที่ 95 %
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในแต่ละปีมีการจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อให้บริการฟรีกับกลุ่มเสี่ยงราว 4.5 ล้านโดส โดยในปี 2565 มีอัตราการเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 95 % เมื่อฉีดกลุ่มเสี่ยงแล้ว มีวัคซีนส่วนเหลือ 5 % นำไปฉีดให้กับกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะอยุ่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ ทหารเกณฑ์ เป็นต้น ส่วนในปี 2566 มีการจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วอยู่ที่ 5.26 ล้านโดส
ตายโควิด กลุ่มเสี่ยง-ไม่รับวัคซีน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 10 คนและมีการพบผู้เสียชีวิตที่บ้าน ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน มี 6 คนเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และเป็นผู้ป่วยที่ติดโควิดเป็นครั้งแรก อีก 4 คนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนนานแล้วยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น จึงมีโอกาสที่จะป่วยหนักได้ การรับวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุรวมทั้งกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ที่จะช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
“การพบผู้เสียชีวิตที่บ้านแสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหานี้ซ่อนอยู่ สิ่งที่จะทำได้คือ การให้ อสม.เคาะประตูบ้าน สำรวจและชวนมารับวัคซีน หรือนำวัคซีนไปฉีดที่บ้าน ทั้งนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอยู่ตอนนี้ แม้ว่าจะมีความรุนแรงลดลง และไม่รุนแรง แต่ไม่รุนแรงสำหรับคนที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน ไม่ใช่สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีกว่า 2 ล้นคนที่ยังไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว”นพ.โสภณกล่าว